ภาคการผลิตไทย บนความท้าทายเชิงโครงสร้าง

ภาคการผลิตไทย
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
ธนาคารแห่งประเทศไทย

หากมองเศรษฐกิจไทยในภาพรวม จะเห็นได้ว่าในระยะหลังภาคการผลิตมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนของภาคการผลิตในผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ที่ลดลงจากร้อยละ 28 ในปี 2555 มาอยู่ที่ราวร้อยละ 25 ในปี 2566

ขณะที่ข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ Manufacturing Production Index (MPI) แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ดัชนี MPI หดตัวสูงถึงร้อยละ 3.8

และล่าสุด ดัชนี MPI เดือน ก.พ. 2567 ยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยเชิงวัฏจักร จากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง แต่หากใครเป็น FC ของหน่วยงานวิจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ คงได้ยินกันมาบ้าง ว่าอีกส่วนหนึ่งเกิดจาก “ปัจจัยเชิงโครงสร้าง” ในภาคการผลิตของไทยที่กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น

ในบทความนี้ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านมาร่วมสำรวจข้อมูลในระดับจุลภาค (Granular Data) ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าความเปราะบางเกิดขึ้นที่จุดใด รวมถึงฉายภาพอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจฉุดรั้งการเติบโตของภาคการผลิตในภาพรวม รวมถึงเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

มองย้อนไปในปีที่ผ่านมา ที่ภาคการผลิตของไทยหดตัวสูง พบว่าเกิดจากการหดตัวในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม โดยกว่าครึ่งของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่หดตัวมีสัดส่วนจำนวนโรงงานที่การผลิตหดตัวมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ โรงงานเหล็ก ยาง และพลาสติก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และเฟอร์นิเจอร์ที่การผลิตหดตัวสูงเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีสัดส่วนจำนวนโรงงานที่การผลิตหดตัวเกือบร้อยละ 80 ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

สะท้อนว่าอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในภาคการผลิต แต่ผลกระทบรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมที่หลายคนมองว่ามีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน

สำหรับการประเมินว่าอุตสาหกรรมใดมีปัญหาเชิงโครงสร้างอาจไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นแรกคงต้องเห็นอาการหดตัวของการผลิตของอุตสาหกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เขียนประเมินจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หดตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่สูงกว่าการผลิตในภาพรวมเกือบ 2 เท่า โดยมีหลายอุตสาหกรรมที่ส่ออาการเหล่านี้ เช่น Hard Disk Drive (HDD), สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเหล็ก

ประเด็นที่สอง คือการหดตัวนั้นมีแนวโน้มจะเป็นอาการถาวร เพราะเกิดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในตลาดโลก หรือตลาดในประเทศ ซึ่งอาจพิจารณาได้จากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกของไทยกลับหดตัว เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

หรือการที่ไทยผลิตสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้สินค้านั้นมีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง เช่น HDD สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งถูกทดแทนด้วย Solid-State Drive (SSD) ทำให้ส่วนแบ่งของ HDD ในตลาดอุปกรณ์ Storage ลดลงจาก 83%

ในปี 2555 มาอยู่ที่ 54% ในปี 2565 รวมไปถึงการสูญเสียตลาดในประเทศให้กับสินค้านำเข้า สะท้อนจากสัดส่วนนำเข้าต่อยอดผลิตเพื่อขายในประเทศรวมนำเข้า (Import Penetration Ratio) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้างและเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ (EV)

หากพิจารณาปัจจัยด้านภาวะการผลิต ร่วมกับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในตลาดโลกและตลาดในประเทศ เบื้องต้นพบว่าอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ HDD สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และเหล็ก กลุ่มนี้คิดเป็นน้ำหนักมูลค่าเพิ่มราวร้อยละ 20 ของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งคงไม่ดีแน่หากปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งการเติบโตของภาคการผลิตต่อไป เพราะภาคการผลิตมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก มีสัดส่วนในมูลค่าการส่งออกกว่า ร้อยละ 80 และมีการจ้างงานสูงถึง 6 ล้านคน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรร่วมด้วยช่วยกัน เร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และยกระดับการเติบโตของภาคการผลิตไทย ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกใหม่ทั้ง Digital และ Green พัฒนาสินค้าไม่ให้ตกขบวน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ควรปรับกฎกติกาเพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการออกมาตรการส่งเสริม เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจปรับตัวและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนช่วยพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน เพื่อให้มีแรงงานพร้อมก้าวไปกับผู้ประกอบการที่จะขยับไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้