ประเมินผลงาน 4 ปี คสช. กับอนาคตประเทศไทย

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  [email protected]

ประเมินผลงานเศรษฐกิจและผลงานด้านต่าง ๆ ในช่วง 4 ปี หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอนาคต คสช. จะเห็นว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การปิดกั้นเสรีภาพและการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานต่าง ๆ ของรัฐบาลไม่บรรลุเป้าหมาย การกระจายอำนาจ กระจายโอกาส การเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเท่านั้น จะช่วยให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลงานต่าง ๆ และการปฏิรูปด้านต่าง ๆ อาจก้าวหน้ามากขึ้น หาก คสช.ไม่คิดสืบทอดอำนาจและหาทุนจัดตั้งพรรคการเมือง หรือใช้อำนาจหรือผลประโยชน์ในการดูดกลุ่มการเมืองให้สนับสนุนตัวเองหลังการเลือกตั้ง

การไม่สืบทอดอำนาจจะช่วยลดความขัดแย้งก่อนและหลังเลือกตั้ง จากการเผชิญหน้าของแนวร่วมประชาธิปไตยและแนวร่วม และ คสช. ควรปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นกลไกสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง บ้านเมืองจะได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย กลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งลดความเสี่ยงของประเทศในการเดินเข้าสู่วิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ จะได้หลีกเลี่ยงกับดักทางการเมืองอันเป็นต้นทุนและอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน และภาคการลงทุน

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศจะสามารถดำเนินการภายใต้ความต้องการของประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ รัฐบาล คสช.จึงควรเปิดกว้างให้มีสิทธิเสรีภาพ กระบวนการสานเสวนา และวางตัวเป็นกลางและเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการเป็นคู่ความขัดแย้ง เลิกใช้อำนาจเพื่อยุติการวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งลดลง

ในส่วนของเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 1% ในปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ที่ 3.9% ในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้มากกว่า 4%

แต่โครงสร้างการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้การกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมายังประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมีข้อจำกัดและอุปสรรค เกิดสภาวะความไม่เป็นธรรม ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้น แต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังเผชิญความยากลำบาก ที่สำคัญเนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจรัฐ แต่ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง และการบริหารงานแบบขาดการมีส่วนร่วมและการสั่งการจากบนลงล่างตลอดระยะสี่ปีที่ผ่านมา จะไม่สามารถแก้ไขปัญหารวยกระจุก จนกระจายได้

ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวมากขึ้นของปริมาณการค้าโลก ด้านฐานะทางการคลัง รัฐบาลได้ก่อหนี้มากขึ้นทุกปี ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยปี 2558 ทำขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ปี 2559 งบฯขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท ปี 2560 ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท ปี 2561 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท

โดยรวมปี พ.ศ. 2558-2561 รัฐบาล คสช. ยังทำขาดดุลงบประมาณโดยรวมสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาท ซึ่งหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โครงการลงทุนต่าง ๆ ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้า มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤตฐานะทางการคลังในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และปริมาณหนี้สาธารณะสะสมคงค้างอาจแตะระดับ 7 ล้านล้านบาทได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจของประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่พร้อมอิทธิพลของกลุ่มทุนข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงควรเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สำหรับการลงทุนภาครัฐแม้ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา แต่การทุจริตรั่วไหลไม่ได้ดีขึ้น ผลบวกของการลงทุนภาครัฐต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ

ขณะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนแม้กระเตื้องขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตแบบกระจุกตัว สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำ และเหตุที่ภาคการบริโภคยังขยายต่ำ เพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 77.5% ในปี 2560 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ 81.2% ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.97 ล้านล้านบาท

หลังการยึดอำนาจ 4 ปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้น 4.93 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่อง แม้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่ง มากกว่าการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัว ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายตัวมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่ พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกฯ มีอำนาจซ้อนทับกับกฎหมายอื่น เช่น การจัดทำผังเมือง อำนาจจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม เป็นต้น

ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบฟื้นตัวขึ้นและขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำแต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะที่อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% มาโดยตลอด แต่มีสัญญาณว่าอัตราการว่างงานอาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป โดยอัตราการว่างงานล่าสุดในไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3% มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 500,000 คน ส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างการผลิต นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงควรเตรียมการรับมือผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงาน

ที่น่าห่วงคือ รายได้ภาคเกษตรกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง เพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อลดภาระทางการคลัง แต่ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก

ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน และกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครู และปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว