ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรป

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นทางการของไทยอาจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่การวางวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์

ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” ทำให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเร่งแปรนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามแผน จะมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.33 ล้านไร่ เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 9.67 หมื่นราย ตั้งเป้าสัดส่วนตลาดภายในประเทศ 40% ตลาดต่างประเทศ 60%

จากปัจจุบันสถานการณ์การผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก มีพื้นที่ผลิตรวม 318 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 3 ล้านล้านบาท

แยกเป็น โอเชียเนีย 143 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 0.04 ล้านล้านบาท สหภาพยุโรป 79 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 1.12 ล้านล้านบาท ละตินอเมริกา 42 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 0.01 ล้านล้านบาท และอื่น ๆ 54 ล้านไร่ มูลค่าตลาด 1.79 ล้านล้านบาท

ในส่วนของประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์รวม 0.3 ล้านไร่ คิดเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย และอันดับ 60 ของโลก มูลค่าการตลาดรวม 2,310 ล้านบาท แยกเป็นสินค้าประเภท กะทิ เครื่องแกง ซอส 1,200 ล้านบาท ข้าว 552 ล้านบาท และอื่น ๆ 558 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่ผลิตเกษตรอินทรีย์มากที่สุด ประกอบด้วย 1.จ.ศรีสะเกษ 12.7% 2.เชียงใหม่ 11.8% 3.สุรินทร์ 11.6% 4.ยโสธร 10.0% และอื่น ๆ 45.1%

หากสามารถขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุเป้าหมาย การก้าวขึ้นแท่นผู้นำตลาดอินทรีย์ในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการ โดยอาศัยจุดแข็งและความได้เปรียบด้านสภาพภูมิอากาศ ทำเลที่ตั้ง บวกกับต้นทุนเดิมการเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารแหล่งใหญ่ของโลก คงไม่ใช่เรื่องยาก

ที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นข้อมูลที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป นำมาเผยแพร่ ตอกย้ำให้เห็นว่าปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เพราะเทรนด์รักสุขภาพที่ขยายวงไปทั่วโลก ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปกำลังฮอตฮิตไม่แตกต่างกัน

ล่าสุด สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้จัดทำรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก The Soil Association”s 2018 Organic Market Report ว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ของสหราชอาณาจักรเติบโตเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการเติบโตต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2,200 ล้านปอนด์ และมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 1.5% เมื่อเทียบกันตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของสหราชอาณาจักร ดังนี้

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ประกอบด้วย 1.ประโยชน์ต่อร่างกาย 2.รสชาติ 3.ความสมดุลระหว่างราคา ปริมาณ คุณภาพ เวลาที่ใช้ทำอาหาร และรสชาติที่ชื่นชอบ 4.ความพึงพอใจ 5.คุณค่าของสินค้า ขึ้นอยู่กับราคา คุณภาพ และความสะดวก 6.ความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักรให้ความนิยมกับอาหารที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่ผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ในสัดส่วนเล็กน้อย อาหารมังสวิรัติ อาหารที่ใช้ส่วนผสมอื่น ๆ ทดแทนนม และอาหารที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ 1.ซูเปอร์มาร์เก็ต มูลค่ารวม 1,500 ล้านปอนด์ ในปี 2560 เติบโตขึ้น 4.2% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป 2.ร้านค้าปลีกอิสระ มูลค่ารวม 359 ล้านปอนด์ 3.การส่งสินค้าตรงถึงบ้าน 286 ล้านปอนด์ 4.ธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ภัตตาคาร ธุรกิจจัดเลี้ยง 84.4 ล้านปอนด์

สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับความนิยม 1.ผลิตภัณฑ์นม มีส่วนแบ่งการตลาด 29% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ทั้งหมดในสหราชอาณาจักร 2.ผักและผลไม้สด 24% 3.เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก 10.2% ทั้งนี้ การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวมีการขยายตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้สด อัตราการเติบโตสูงถึง 6.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านปอนด์

โดยปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหราชอาณาจักร มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านปอนด์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากเยอรมนี และฝรั่งเศส

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ระบุว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ตลาดสินค้าอินทรีย์ในสหภาพยุโรปขยายตัวต่อไปในอนาคต คือ การรักษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ด้านมาตรฐานการผลิต ที่มีการตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน และมีการรับรองมาตรฐานจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องสื่อสารข้อมูลด้านคุณค่าของสินค้าให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจน เช่น คุณภาพ จรรยาบรรณในการผลิต การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และการช่วยสนับสนุนผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกรในท้องถิ่น ฯลฯ จึงถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะขยายการส่งออกไปตลาดแห่งนี้เพิ่มขึ้นเพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความปลอดภัยจากสารตกค้างต่าง ๆ การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย

โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหาร และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อพัฒนาอาหารให้มีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และปรับปรุงการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น สินค้าเป็นธรรมชาติ ผ่านการปรุงแต่งน้อย นำไปประกอบอาหารได้ง่าย ไขมันต่ำ ลดการเติมเกลือหรือน้ำตาลลง เป็นต้น

ชี้เป้าให้ชัดเจนขนาดนี้แล้ว โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ทำอย่างไรเกษตรกรไทย ผู้ส่งออกไทย จะก้าวไปให้ถึงได้