เติมศักยภาพ ขนส่งโลจิสติกส์ ด้วยหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ

คอลัมน์ มองข้ามชอต

โดย ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส

 

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมา Alibaba ได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญในการบริหารคลังสินค้า (warehouse) โดยการเปิดตัว Cainiao G Pus หุ่นยนต์ซึ่งมีความสามารถขนส่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดแตกต่างกันได้พร้อมกันหลายชิ้นในคราวเดียว อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูงสุดกว่า 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมทั้งได้ประกาศที่จะลงทุนราว 5.1 แสนล้านบาทในระบบ smart logistics เพื่อตอกย้ำถึงหัวใจสำคัญในระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่นอกจากต้องมี “หน้าบ้าน” คือความสามารถในการขนส่งสินค้าแล้ว ยังต้องมี “หลังบ้าน” หรือการจัดการคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพด้วย

จากผลการสำรวจของ Deloitte พบว่า robotics and automation เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน สูงที่สุดในบรรดานวัตกรรมต่าง ๆ ทางด้านระบบขนส่งและโลจิสติกส์โดยทั่วไป โดยพัฒนาการของคลังสินค้าสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ

ได้แก่ 1.พัฒนาการการหยิบจับสินค้า โดยมีการใช้คลื่นวิทยุและเสียง 2.พัฒนาการระบบเครื่องจักรกล เช่น การใช้สายพานลำเลียง การใช้ระบบบรรจุหีบห่อและติดฉลากอัตโนมัติ 3.พัฒนาการระบบกึ่งอัตโนมัติที่ยังคงใช้มนุษย์ควบคุมบ้าง เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติในการเก็บและเรียกสินค้าจาก shelf

และ 4.พัฒนาการระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ซึ่งเป็นพัฒนาการสูงสุดของคลังสินค้า ยกตัวอย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์ (warehouse robot) ในกิจกรรมต่าง ๆ ของคลังสินค้า เช่น การจัดเรียงสินค้าบนพาลเลต (pallet) การเคลื่อนย้ายสินค้าขึ้น/ลงจากรถบรรทุก การบรรจุหีบห่อ รวมถึงการบริหารจัดการและการควบคุมระบบต่าง ๆ ในคลังสินค้า โดยการใช้หุ่นยนต์ในคลังสินค้าสามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจที่หลากหลาย เช่น e-Commerce, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ Tractica บริษัทด้านการวิจัยด้านหุ่นยนต์ชั้นนำ ประเมินว่า ตลาด warehouse robot ทั่วโลกในปี 2018 มีมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมสูงถึง 45% ต่อปี ซึ่งจะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ 7.3 แสนล้านบาทในปี 2021 หรือมีการใช้ warehouse robot ปรับเพิ่มขึ้นจากราว 250,000 ตัวเป็น 620,000 ตัว

ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยปัจจัยขับเคลื่อนมาจากราคาของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ปรับตัวลง และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยมีการปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท/ตัว ในปี 2018 จากราคาราว 2.1 ล้านบาท/ตัว

ในปี 2009 ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้อุปทานแรงงานมีการปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีความจำเป็นในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทน

นอกจากนี้การสำรวจของ DHL ยังพบว่า ในปัจจุบันมีคลังสินค้าทั่วโลกเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้ระบบอัตโนมัติ ส่วนที่เหลือยังดำเนินการด้วยคนงานเป็นหลัก จึงยังคงมีโอกาสในการพัฒนาคลังสินค้าเหล่านี้อีกมากมายในอนาคต

สำหรับไทยในปัจจุบัน คลังสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นระบบเครื่องจักรกลและระบบกึ่งอัตโนมัติที่ยังคงใช้มนุษย์ควบคุมบ้าง โดยมีคลังสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบกึ่งอัตโนมัติมากขึ้น เช่น ในอุตสาหกรรมวัสดุ ผู้ประกอบการบางรายมีการสร้างคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติโดยใช้ระบบบริหารคลังสินค้าอัตโนมัติเพื่อลดความผิดพลาด และเพิ่มความรวดเร็วในการจัดเก็บและกระจายสินค้า

ส่วนในอนาคต อีไอซีประเมินว่า การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์มีโอกาสที่จะแพร่หลายมากขึ้น จากการเติบโตของ e-Commerce ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตจาก 6.5 หมื่นล้านบาทในปี 2018 ไปเป็น 8.5 หมื่นล้านบาทในปี 2021

โดย e-Commerce ที่ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำในการจัดเก็บสินค้า การเรียกคืนสินค้า และการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพจะสร้างอุปสงค์ในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ล้วนต้องการพึ่งพาการเก็บวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป ในปริมาณและความถี่ในการจัดเก็บสินค้าที่มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องการใช้คลังสินค้าในการเก็บชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการการขนส่งรถยนต์ที่ประกอบเสร็จแล้ว จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยปรับเปลี่ยนคลังสินค้าเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ และนำระบบหุ่นยนต์เต็มรูปแบบเข้ามาใช้มากขึ้นในอนาคต

จากการประเมินสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ต่อจำนวนแรงงานตามค่าเฉลี่ยโลกที่ 69 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน อีไอซีคาดว่า ไทยต้องการหุ่นยนต์อย่างน้อย 3,000 ตัวเพื่อทดแทนแรงงานในด้านโลจิสติกส์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งความต้องการดังกล่าวมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ การเพิ่มการใช้หุ่นยนต์ของแรงงานในอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ในปัจจุบันราว 1.2 ล้านคน เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยโลก และการเพิ่มการใช้หุ่นยนต์ในแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ประเมินว่าแรงงานระดับปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์จะเพิ่มขึ้นราว 2.5-3% ในแต่ละปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีโอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของทั้งผู้ประกอบการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ไทยที่จะนำ warehouse robot เข้ามาใช้ในคลังสินค้าของบริษัท เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบริหารคลังสินค้าและการขนส่ง รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่เป็น supplier ในห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีความสำเร็จทางธุรกิจ เงินลงทุน และเทคโนโลยี ยังเป็นความท้าทายสำคัญในการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในคลังสินค้า ถึงแม้ว่าจะมีการเริ่มใช้หุ่นยนต์ในคลังสินค้าบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเหมือนการใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจอื่นนัก กรณีการใช้หุ่นยนต์ในคลังสินค้าที่ประสบความสำเร็จจึงยังมีน้อยกว่าธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อผู้ประกอบการในการใช้งาน

นอกจากนี้ การลงทุนในระบบการพัฒนาคลังสินค้าระบบอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์โดยสมบูรณ์ยังคงมีราคาสูง โดย Robo Global ประเมินว่าการลงทุนสร้างคลังสินค้าดังกล่าวต้องใช้เงินอย่างน้อยราว 1,200 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงย่อมสร้างข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสุดท้าย ทั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีในด้านขนส่งและโลจิสติกส์มีโอกาสพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม