จัดระเบียบซอยวัดราชาฯบ้าง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับนโยบายการจัดระเบียบทางเท้าของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเรื่อง “5 ไม่” ที่จะต้อง “ไม่เกิดขึ้น” ทั่วมหานครกรุงเทพทั้ง 50 เขต

ไม่ว่าจะเป็น 1.ไม่จอดหรือขับขี่บนทางเท้า 2.ไม่มีหาบเร่-แผงลอยที่ผิดหลักเกณฑ์หรือผิดกฎหมาย 3.ไม่มีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 4.ไม่มีสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย และ 5.ไม่ตั้งวางกระถางต้นไม้ หรือสิ่งใด ๆ บนทางเท้าหรือที่สาธารณะ

แต่ผมไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ?

ทำไมบริเวณต้นซอย จนถึงกลางซอยสามเสน 9 แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร อยู่ภายใน จึงเข้าข่าย “5 ไม่” ที่ทางกรุงเทพมหานครประกาศออกมาแล้วทำไม่ได้

มองในแง่ดีหน่อย “ไม่ที่ 1” ที่บอกว่า “ไม่จอดหรือขับขี่บนทางเท้า” อาจจะไม่เกิดขึ้นบริเวณนี้ แต่กลับมีพ่อค้าแม่ค้าใช้ทางเท้าแห่งนี้เป็นที่ตั้งโต๊ะขายของ ทั้งสองฝั่งซอยสามเสน 9 ไม่ต่ำกว่า 100-200 เมตร

ทั้ง ๆ ที่ในซอยแห่งนี้มีประชาชน นักเรียน นักศึกษาต่างใช้ทางเท้าแห่งนี้กันขวักไขว่

แต่กลับเดินบนทางเท้าไม่ได้เลย หรือถ้าจะเดินก็ต้องเดินเลี่ยงโต๊ะอาหารของเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้อภิสิทธิ์จากไหนไม่ทราบมาตั้งโต๊ะให้ระเกะระกะคนเดิน

หนักไปกว่านั้น ตลอดซอยสามเสน 9 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ซอยวัดราชาฯ ยังมีเก้าอี้, แผงเหล็กกั้น, กระป๋องปูน และอื่น ๆ อีกมากมาย มาจับจองบริเวณถนนหน้าบ้านของตัวเอง เพื่อไม่ให้ใครก็ตามมาจอดรถบริเวณนั้น ๆ

ผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างนี้ได้ด้วยหรือ ?

จนทำให้ต้องไปจอดรถในวัดราชาฯ ซึ่งต้องเสียค่าจอดครั้งละ 20 บาท

แต่ก็ใช่ว่าจะหาง่าย ๆ เพราะบางทีวนสองรอบสามรอบก็ต้องวนออก เพราะหาที่จอดไม่ได้เลย

โชคดีหน่อยที่เขายังคืนเงินให้ หากไม่มีที่จอดรถ

แต่กระนั้น การเดินออกมาจากวัดราชาฯเพื่อมาซื้อของบริเวณต้นซอย ถึงกลางซอยก็ไม่ใช่ใกล้ ๆ เพราะระยะทางมากกว่า 500 เมตรทีเดียว

ผมเคยบ่นเรื่องนี้กับบางคนที่มีประสบการณ์เดียวกัน

ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

…ผู้อำนวยการเขตดุสิตมัวทำอะไรอยู่ เคยมาดูบ้างหรือไม่ และรู้บ้างหรือไม่ในตอนเช้า และตอนเย็นหลังจากนักเรียนมาโรงเรียน และกลับจากโรงเรียน ถนนในซอยแห่งนี้มีความชุลมุนมาก

ยิ่งช่วงหน้าฝนอย่างนี้ด้วย

ผมเลยนั่งนึก ๆ ว่า หรือเรื่องนี้ต้องถึงหู “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” เสียแล้ว เพราะขืนพึ่งพาผู้อำนวยการเขตดุสิตเห็นทีคงยาก เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมานานหลายปีแล้ว

โชคดีบ้างที่ทางกรุงเทพมหานคร

ห้ามหาบเร่-แผงลอยขายของวันจันทร์ ซึ่งแม้พอจะช่วยคืนทางเท้าให้เรา ๆ

ท่าน ๆ เดินกันสะดวกมากขึ้น แต่กระนั้น ร้านค้าที่ตั้งอยู่อย่างถาวรบนทางเท้า

ก็ไม่ได้เก็บออกไป คงตั้งอยู่อย่างนั้นเพื่อเตรียมขายของในวันอังคารสืบต่อเนื่องไป

จริง ๆ ผมเข้าใจคนทำมาหากินนะถ้าจะไปไล่เขาไม่ให้ขายของ คงลำบาก แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ทางกรุงเทพมหานครก็อย่ามาประกาศนโยบาย “5 ไม่” สิ เพราะเมื่อประกาศแล้วใช้นโยบายนี้กับบางจุด บางตำแหน่ง บางทำเล หรือบางเขต ก็จะไม่เป็นธรรมสำหรับพวกเขาโดยรวม เพราะไหน ๆ จะคืนทางเท้าให้กับประชาชนแล้วก็ควรคืนทางเท้าทั้งหมดให้ประชาชนด้วย

และก็อย่าให้มีหาบเร่-แผงลอยถาวรมาตั้งขายของแบบนี้

จริง ๆ ผมไม่ติดใจหาบเร่-แผงลอยบริเวณซอยวัดราชาฯเท่าใดนัก แต่ผมติดใจเจ้าของตึกคูหาแต่ละหลังที่เอาเก้าอี้, แผงเหล็กกั้น, กระป๋องปูน และอื่น ๆ มาจับจองถนนหน้าบ้านเพื่อไม่ให้รถคนอื่นมาจอดมากกว่า

เห็นแล้วรู้สึกสมเพช

คุณมีสิทธิ์อะไรมาจับจองที่สาธารณะเช่นนี้ แม้ผมจะเข้าใจการจอดวันคู่ และวันคี่อยู่บ้างนะ และก็เข้าใจ สน.สามเสนอยู่บ้าง ที่ไม่อยากจะเข้ามาทะเลาะกับชาวบ้าน

แต่นั่นแหละ คุณก็ต้องเข้ามากวดขันบ้าง ไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้จะเป็นอภิสิทธิ์ชนไปโดยปริยาย

ใครผ่านไปผ่านมาอยากมาหาอะไรกินอร่อย ๆ ก็จอดไม่ได้

เพราะคุณเล่นจับจองเป็นของพวกคุณไปเสียทั้งหมด

แล้วอย่างนี้จะมีผู้อำนวยการเขตดุสิตไว้ทำไม ?

หรือจะต้องมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไว้ทำไม ?

ช่วยตอบผมที ?