บทเรียน “ทัวร์จีน 2018” โจทย์ที่รัฐ-เอกชนต้องร่วมกันแก้

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ในช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมา หลายคนตั้งคำถามว่า วันนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “เลวร้าย” แล้วจริง ๆ หรือ ?

และถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ความหวังของประเทศไทยที่คาดหวังว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศนั้นจะยังพึ่งพาได้อยู่หรือไม่

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำตัวเลขทั้งจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และฝั่งผู้ประกอบการมากางให้ดูกันว่าภาพจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้เป็นอย่างไร

จากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน) ปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยทั้งหมดรวม 28.54 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสร้างรายได้รวม 1.49 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560

จากตัวเลขดังกล่าวนี้ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า “แล้วอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมันเลวร้ายตรงไหน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้รวมก็เพิ่มขึ้น”

ที่สำคัญสัดส่วนการขยายตัวของรายได้ยังสูงกว่าสัดส่วนการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยนั้นยังเป็นไปในเชิง

“คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” ตามเป้าหมายอย่างชัดเจนอีกด้วย และหากประเมินกันแบบเดือนต่อเดือนก็ยังพบว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมก็ยังสามารถขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 2.13 ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกภูมิภาค

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว “ปัญหา” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในเวลานี้มันอยู่ตรงไหน ?

แน่นอนคือ “ตลาดจีน” ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่จากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต และอีกหลายต่อหลายประเด็นที่ถาโถมเข้ามาเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขสถิติเดือนกันยายนที่ผ่านมาของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักครองอันดับ 1 มาตลอดนั้น โดยรวมตกลงไป 14.89% เช่นเดียวกับรายได้ที่หายไป 11.49%

ถามว่าในภาพรวมนี้เป็น “ตัวแดง” ที่น่าตกใจไหม ? ตอบเลยว่าก็ไม่ได้ถือว่ามากมายหนัก

แต่ส่วนที่น่า “ใจหาย” คือ ส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็น “กรุ๊ปทัวร์” มากกว่า ซึ่งกลุ่มนี้ยังคงมีสัดส่วนราว 40-50% ของตลาดรวม โดยจากตัวเลขของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางผ่านสมาคมแอตต้านั้นตกลงในสัดส่วนที่เยอะมาก โดยในเดือนกรกฎาคมตัวเลข ลดลง 22.17% เดือนสิงหาคม ลดลง 36.49% เดือนกันยายน ลดลง 39.19% และตุลาคม (วันที่ 1-23) ลดลง 31.3%

แน่นอนว่า ตัวเลขที่ลดไป 30-40% นั้น ขณะนี้กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับกลุ่มผู้ประกอบการที่โฟกัสตลาดจีน

ขอย้ำว่า “ตลาดจีน” เพราะในมุมของธุรกิจถือว่าเวลานี้เป็น “โอกาสทอง” ของนักท่องเที่ยวและเอเย่นต์ทัวร์ฝั่งจีนที่จะมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นตามหลักดีมานด์-ซัพพลายของตลาด

นั่นหมายความว่า นอกจากกลุ่มผู้ประกอบการฝั่งไทยจะประสบปัญหาเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว เวลานี้ยังอาจต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง และถูกคู่ค้าฝั่งจีนกดราคากันแบบ “ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน” แน่นอน ดังนั้น หากประเมินตามรูปการณ์แล้วจะพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในเวลานี้ คือ กลุ่มผู้ประกอบการตลาดจีนที่โฟกัสนักท่องเที่ยวกลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์” เป็นหลักเท่านั้น

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทาง “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯมองว่า ตลาดรวมมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และไม่เห็นด้วยที่จะนำมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival หรือ double entry visa มาแก้ปัญหาตลาดนักท่องเที่ยวในรอบนี้ อีกทั้งยังมองว่า ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้สำหรับ “จัดระเบียบ” โครงสร้างตลาดท่องเที่ยวจีนใหม่ เพราะการปล่อยให้ตลาดขยายตัวปีละ 20-30% นั้นประเทศคงรับมือไม่ไหวแน่นอน พร้อมทั้งยังเชื่อว่าการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงนี้น่าจะเป็นระยะสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากยังเป็นห่วงเรื่อง “ความปลอดภัย” ในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยอยู่และยังเชื่อมั่นด้วยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นว่า “ประเทศไทย” มีมาตรการความปลอดภัย และมีมาตรฐานด้านท่องเที่ยวที่ดี พวกเขาจะกลับมาเอง

ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าหากเราเน้นปริมาณที่มากเกินไป แต่โครงสร้างในการรองรับนักท่องเที่ยวของประเทศยังไม่พร้อม สุดท้ายแล้วก็จะเกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมาอีกเป็นระยะแน่นอน

และน่าจะถึงเวลาที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคส่วนควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อกำหนดกรอบ กติกา และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อให้ทุกส่วนก้าวเดินไปพร้อมกันได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป…