“กรีนซิตี้” เมืองอยู่ดีคนมีสุข

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

การพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นกระแสที่มาแรง มีการตื่นตัวในวงกว้าง สำหรับประเทศไทยนั้น หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

เมื่อ 10 ต.ค. 2560 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการ เพื่อขยายผลสู่เป้าหมาย 1 จังหวัด 1 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ภายในปี 2563 มี 6 จังหวัดต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืน คือ สกลนคร สตูล ขอนแก่น ลำปาง สงขลา และระยอง เป็นโมเดลนำร่อง

ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานกรอบการประชุมระดับมุขมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGFTC) ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMG-GT) เมื่อ 12 ก.ย. 2561 และได้ถอดบทเรียนการขับเคลื่อน green city ให้กระจายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยมี 4 ประเด็นหลักที่ต้องผลักดัน ได้แก่ 1.ด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน การวางผังเมือง จัดรูปแบบเมืองเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2.ด้านการขนส่ง มีระบบขนส่งมวลชน การใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด 3.ด้านสาธารณูปโภค มีระบบจัดการขยะของเสีย การจัดการน้ำ ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน และ 4.อาคาร สิ่งปลูกสร้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในการดำเนินการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองสีเขียว โดยนำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองสีเขียวของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ใช้ขับเคลื่อนเมืองสีเขียว 14 จังหวัดภาคใต้เป็นต้นแบบ โดย 14 จังหวัดภาคใต้ ให้พัฒนาเมืองสีเขียวตามแผนงาน IMG-TG และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ให้ขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12

เริ่มจากการกำหนดกรอบการดำเนินการเมืองสีเขียวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละท้องถิ่นให้มีระบบนิเวศที่ดี มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองดี ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ระบบกำจัดขยะที่มีมาตรฐานให้เหลือศูนย์ (zero waste) ลดฝุ่น ควันพิษ ระบบบำบัดน้ำเสียถูกสุขลักษณะ ลดการใช้น้ำต่อหัวประชากร

ประหยัดพลังงาน ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน การใช้จักรยานแทนรถยนต์

เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ด้วยการบำรุงรักษาต้นไม้ยืนต้น พืชพรรณท้องถิ่น มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นพื้นที่สีเขียวเพียงพอ เพิ่มทางเดินเท้าสีเขียว ฯลฯ

การให้ความสำคัญกับลักษณะทางกายภาพของเมือง ภูมิประเทศ โครงข่ายคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบผังเมืองเหมาะสมตามธรรมชาติ เน้นอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์เมืองเก่า ออกแบบผังเมืองให้มีภูมิสถาปัตยกรรมเป็นระเบียบสวยงาม เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ระบบการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ปลอดภัย ประหยัด

ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ บทบาทของเมือง เศรษฐกิจเมือง และสภาพแวดล้อมของเมือง ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริหารจัดการมีประสิทธิภาพโปร่งใส ด้านเศรษฐกิจดี ค่าครองชีพไม่สูง เป็นต้น

จะบรรลุผลตามโมเดลต้นแบบ สอบผ่านเกณฑ์ชี้วัดหรือไม่ อยู่ที่จะดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมวางแผน ร่วมคิดตัดสินใจ ร่วมลงมือปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด