ส่งเสริมการลงทุนทะลุเป้า ต้องลด แลก แจก แถม อยู่หรือไม่

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล บ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวดีที่น่าสนใจสองข่าว คือ ข่าวประมงไทยปลดใบเหลือง ไอยูยู และข่าวตัวเลขการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ทะลุ 9 แสนล้านบาท ซึ่งน่าชื่นชมผู้ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองข่าว และทั้งสองข่าวมีประเด็นที่เราจะต้องติดตามความคืบหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยปีหมูไฟนี้ แต่เนื่องจากดิฉันมีความสนใจเรื่องนโยบายการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นพิเศษ

จึงอยากขอแตกประเด็นถึงความสำคัญของปัจจัยเชิง “คุณภาพ” ของการส่งเสริมการลงทุนของไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และขอลองตอบคำถามดักคอผู้ชอบวิจารณ์นโยบายการส่งเสริมการลงทุน ว่าเป็นการช่วยเศรษฐีให้ไม่ต้องจ่ายภาษีบ้าง หรือว่า ถึงไม่ส่งเสริมเขาก็ต้องลงทุนอยู่แล้วบ้าง หรือยอดขอรับการส่งเสริมไม่ใช่ยอดที่เกิดตัวเลขการลงทุนจริงบ้าง หรือทุกวันนี้อัตราภาษีที่แท้จริงที่รัฐบาลเก็บจากบริษัทนั้น ต่ำที่สุดในอาเซียนแล้ว

สำหรับผู้ที่ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะทราบว่า ย้อนหลังไปสัก 5 ปีที่แล้ว เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดของเราเกือบดับทั้งหมด ดังนั้น เมื่ออยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบง่ายหน่อยก็พยายามไปเร่งเครื่องการลงทุนภาครัฐ (G) แต่ขั้นตอนกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างใหม่ และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่าจะเข้าที่ เครื่องจักรนี้ก็เพิ่งมาออกตัว

หากอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบต้องใช้โชคพร้อมฝีมือ ก็ลองไปเร่งเครื่องจักรการส่งออก (X) ที่กำลังฟื้นตัวดี ๆ แต่ก็ต้องระวังเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย บวกปัจจัยเรื่องสงครามการค้าโลก ที่ทำให้การบริหารเครื่องจักรส่งออกมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นไปอีก

เครื่องยนต์ตัวเจ้าปัญหาที่น่าสนใจก็ตัวการบริโภค (C) และการลงทุนภาคเอกชน (I) นี่แหละค่ะ เร่งเครื่องขึ้นยากจัง เพราะในส่วนการบริโภคนั้นผู้บริโภคที่ยังไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร มองไปทางไหนก็เห็นเครื่องจักรมาแทนคน

ตัวเองก็ไม่รู้จะมีฝีมือพออยู่รอดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบ IR 4.0 นี้หรือไม่ พฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป

แถมมีเศรษฐกิจแบบ “แบ่งปัน” หรือ “sharing economy” เข้ามา ห้างสรรพสินค้ามีแต่คนเดินไปมา แต่ไปซื้อหาของถูกสุดเอาจากทางออนไลน์ จะให้ซื้ออะไรเพิ่มก็เหมือนถูกนโยบายยืมเงินอนาคตในอดีตดักไว้หมดแล้ว จะขยับเครื่องจักรด้านการบริโภคนี้ ก็ยากแสนเข็น

แต่สำหรับเครื่องยนต์ตัวสำคัญสุด ขยับยากสุด ซึ่งตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวน้อยสุด คือ เครื่องยนต์ชื่อการลงทุนภาคเอกชนนั่นเอง ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งจากนักลงทุนเอกชนในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ

แต่จู่ ๆ สัปดาห์ที่แล้ว ก็เห็นท่าน ดร.สมคิด (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล) แถลงข่าวร่วมกับท่านเลขาฯ บีโอไอ คิดในใจว่ารอบนี้ ถ้าไม่ใช่ข่าวดีมาก ๆ ก็คงเป็นข่าวร้ายมาก ๆ

ปรากฏ ข่าวดีค่ะ เครื่องยนต์ชื่อการลงทุนภาคเอกชนเหมือนจะเริ่มติด มียอดการขอรับการส่งเสริมเกิน 9 แสนล้านบาท เป็นยอดที่สูงกว่าเป้าที่ 7.5 แสนล้านบาท และเป็นยอดที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา …น่าสนใจ เหมือนเครื่องกำลังจะติด แต่ได้ยินคำถามคาใจหลายคน

เป็นคำถามที่น่าตอบค่ะ เช่น ยอดขอรับการส่งเสริมเป็นตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้หรือ ? ทำไมไม่ใช้ยอดการอนุมัติ หรือยอดการออกบัตรส่งเสริม ?

คำตอบ คือ ดิฉันได้เฝ้าติดตามความสอดคล้องของตัวเลขยอดขอส่งเสริม ยอดอนุมัติ และยอดการออกบัตรของ BOI ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวเลขที่มีความสอดคล้องกันดีทีเดียว ดังนั้น โอเค ฉลองได้

คำถามต่อไปของคนขี้หมั่นไส้ แนว “ก็แน่ล่ะซี้…” ก็เล่นลด แลก แจก แถม ขนาดนี้ ก็ปั๊มตัวเลขได้บ้างล่ะ แล้วนี่ไม่เสียรายได้ภาษีเข้าประเทศเหรอ ?

ขอแยกตอบเป็นสองคำถาม ประเทศไทยลด แลก แจก แถม มากเกินไปหรือไม่ ?

คำตอบอยู่ที่ประวัติความยากลำบากในการติดเครื่องยนต์ลงทุนเครื่องนี้ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ที่มันติดยากซะเหลือเกิน เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงสุดที่เหลือเฟือของโลก ประกอบกับแนวโน้มเทคโนโลยี 4.0 ที่เห็นการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้น

UNCTAD ยังประกาศว่า การลงทุนระหว่างประเทศของโลกฟุบสนิท ทุกประเทศแข่งกันดึงฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญไปไว้ที่ประเทศของตน

ความน่าสนใจโดยรวมของประเทศไทย มากพอหรือที่จะไม่ลด แลก แจก แถมไปอย่างประเทศคู่แข่งเขา ?

จริงหรือไม่ที่ว่าประเทศไทย มี “อัตราภาษีนิติบุคคลที่แท้จริง” หรือ EATR (effective average tax rate) ต่ำที่สุดในอาเซียน ? คำตอบคือ ไม่จริง

ข้อเท็จจริง คือ ประเทศไทยมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะเจาะจงบางสาขา ที่เป็นสาขาที่ให้ความสนใจทางยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องให้สิทธิประโยชน์มาก ๆ

แต่มิได้ให้แบบปูพรมไปทุกอุตสาหกรรมเหมือนบางประเทศ

พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าทำเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (weight average) เราไม่ได้มีภาษีเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอื่นมากเท่าไหร่เลย ที่ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลเฉพาะบางสินค้า ที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เท่านั้น ดังนั้น คำถามว่าต้องลด แลก แจก แถม ต่อไปหรือไม่ ? คำตอบคือ จำเป็น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ต้องเป็นการลด แลก แจก แถม ที่มีคุณภาพด้วย

ว่าแต่ที่ให้สิทธิประโยชน์ไปนี้ ทำให้รัฐเสียรายได้มากเกินไปหรือไม่ ? ทุกวันนี้ก็ไล่เก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ เหนื่อยแทบตาย จู่ ๆ ก็มาลด แลก แจก แถม เดี๋ยวรัฐบาลจะถังแตกพอดี

ดิฉันมีโอกาสเห็นตัวเลขรายได้ภาษี ที่รัฐเก็บได้จากบริษัทที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอพบว่า เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ได้มากกว่าภาษีนิติบุคคล ที่ยกเว้นไป “2-3 เท่า” ทีเดียว ประมาณว่า ถ้าไม่มีบริษัท บีโอไอ รายได้ภาษีน่าจะน้อยลง ปีนี้และอีก 3-5 ปีข้างหน้าเป็นช่วงที่น่าจับตาดูว่า เครื่องยนต์ลงทุนไทยจะจุดติดหรือไม่ โดยมีตัวสันดาป

หลักอยู่ที่โครงการ EEC และฝีมือการทำการตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลใหม่ ตลอดจนความสามารถของบีโอไอ ที่จะต้องรอบรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ยินแว่ว ๆ คำว่า “ยุคโชติช่วงชัชวาล” กำลังจะกลับมา หวังว่าไม่ใช่แค่ฝันไปค่ะ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!