รวบรัด พ.ร.บ.ข้าว ระวังได้ไม่คุ้มเสีย

บทบรรณาธิการ

ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังเป็นเผือกร้อนทำให้ สนช.กับรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เนื่องจากสาระสำคัญของร่างกฎหมายให้หน่วยงานรัฐควบคุมดูแลการผลิตและการค้าข้าวในระดับที่เข้มข้น

โดยให้กรมการข้าวมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุม ออกใบรับรอง และลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลิตและการค้าข้าวทั้งชาวนา โรงสี ผู้รับซื้อข้าวเปลือก และเมล็ดพันธุ์ข้าว ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าว

การดำเนินการดังกล่าวเท่ากับปิดกั้นชาวนาในการผลิตและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้การผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ตกอยู่ในมือคนกลาง กลุ่มทุน เอกชนรายใหญ่

ที่สำคัญบทบัญญัติในร่างกฎหมายไม่มีส่วนใดที่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับชาวนา และอาจซ้ำเติมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตกที่นั่งลำบากมากขึ้นกว่าเดิม

แม้สมาคมชาวนาบางกลุ่มจะสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ แต่นักวิชาการและชาวนาจำนวนมากพากันคัดค้าน เพราะหวั่นเกรงว่ากฎเหล็กที่ให้ข้าวทุกเมล็ดต้องผ่านการรับรองจะสร้างปัญหานำมาซึ่งการผู้ขาดทางธุรกิจ

ล่าสุด แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะสั่งการให้ปรับแก้ไขบทบัญญัติที่จะส่งผลกระทบกับชาวนา ลดแรงกดดันจากการถูกกล่าวหาโจมตี แต่ร่าง พ.ร.บ.ข้าวยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์สนั่นสังคมออนไลน์ สื่อโซเชียลเปิดประเด็นให้คนในสังคมได้รับรู้ปมปัญหาที่จะเกิดขึ้น และชี้ว่าการที่ สนช.หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นพิจารณาช่วงสุญญากาศโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เป็นเรื่องบังเอิญ หรือถือโอกาสทิ้งทวนก่อนหมดวาระ

ขณะเดียวกันก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าดำเนินการอย่างรวบรัด ทั้ง ๆ ที่ สนช.เพิ่งรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ข้าว เมื่อ 25 ธันวาคม 2561 เทียบกับการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.ภาษีมรดก, พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สนช.ใช้เวลานานนับปี จึงน่าห่วงอาจจะไม่รอบคอบรัดกุมเพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา และให้ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต การตลาด การส่งออกข้าว ส่งเสริมคุณภาพชีวิต รายได้ชาวนาไทยในระยะยาว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบไม่รวบรัด

ขณะที่ สนช.ต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และให้ทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส ร่างกฎหมายข้าวจึงจะตอบโจทย์ชาวนา และยกระดับอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบให้มั่นคงยั่งยืนได้