รถไฟ-บขส.แข่งเปิดหน้าดิน บูม “ฝั่งธนบุรี” ฮับเวลเนส

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ประเสริฐ จารึก

 

เมื่อสังคมสูงวัยในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดที่พักผู้สูงอายุและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาลดีมานด์พุ่งปัจจุบันจึงเห็นถนนทุกสายมุ่งลงทุนเจาะกำลังซื้อมาแรงแห่งอนาคต

ล่าสุด “กลุ่มปิยะเวท” กลุ่มทุนย่านพระราม 9 ข้ามห้วยไปปักหมุดถึงฝั่งธนบุรี ซื้อที่ดินติดถนน “วังหลังและปิ่นเกล้า” ขนาด 6 ไร่เศษ เตรียมก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง ขนาด 400 เตียง จะเริ่มลงเสาเข็มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ใช้เงินลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท

เจ้าถิ่นอย่าง “โรงพยาบาลศิริราช” ก็ไม่ตกขบวน มีแผนจะพัฒนาตึกสูง 12 ชั้น บนสถานีศิริราชของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช

ขณะที่ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” และ “บริษัท ขนส่ง จำกัด” ก็เริ่มเคลื่อนไหว เตรียมเปิดกรุที่ดินในมือออกประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนผุด “โปรเจ็กต์มิกซ์ยูส” มูลค่านับพันล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา “การรถไฟฯ” ได้เปิดทดสอบความสนใจโครงการพัฒนาที่ดินย่าน “สถานีธนบุรี” เป็นหนึ่งในสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ตัดแบ่งเนื้อที่ 21 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 120 ไร่ ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน 34 ปี แลกกับผลตอบแทนที่การรถไฟฯจะได้รับตลอดอายุสัญญา 2,638 ล้านบาท

มีแผนขึ้นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส มีโรงแรม 3 ดาว พร้อมมอลล์เล็ก ๆ อยู่ด้านหน้า ศูนย์พักฟื้นสุขภาพ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ที่อยู่อาศัยผู้สูงวัย และบ้านพักพนักงานรถไฟ มูลค่าโครงการ 3,369 ล้านบาท

ตั้งเป้าเนรมิตที่ดินผืนนี้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล หรือ health & wellness hub ใหญ่สุดในฝั่งธนบุรี มีรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นแม่เหล็กดึงดูด

ลูกค้าหลักเป็นกลุ่มแพทย์ เจ้าหน้าที่ ญาติผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธนบุรี และผู้สูงวัยในละแวกนั้น ภายในเดือน เม.ย.นี้ผลศึกษาจะแล้วเสร็จ

จากการซาวเสียงภาคเอกชนที่เข้ารวมฟัง มีบิ๊กทุนหลายรายสนใจ ไม่ว่ากลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรีของหมอบุญ วนาสิน และกลุ่มโรงพยาบาลปิยะเวท

โปรเจ็กต์นี้การรถไฟฯตั้งเป้าจะให้เสร็จในปี 2565 พร้อมเปิดหวูดรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้งช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช กำลังจะประมูลก่อสร้างภายในปีนี้

ไม่ใช่แค่ “การรถไฟฯ” มีไอเดียจะสร้างมูลค่าที่ดินในมือให้กลายเป็นเงินเป็นทอง ฝั่ง “บขส.” ก็จด ๆ จ้อง ๆ จะพลิกที่ดินสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯบริเวณ “สามแยกไฟฉาย” เนื้อที่กว่า 3 ไร่ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับซอยจรัญสนิทวงศ์ 33 ที่เคยเป็นสถานีขนส่งสายใต้เดิม พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยเช่นกัน

ปัจจุบันจ้าง “ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นที่ปรึกษาศึกษาโครงการ

ตามแผนจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนระยะยาว พัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงแรกเนื้อที่ 1 ไร่เศษ พัฒนาเป็นศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุ หรือ nursing home

ส่วนแปลงที่สอง เนื้อที่ 2 ไร่เศษ พัฒนาเป็นอาคารพักอาศัยสูง 21 ชั้น ภายในมีห้องพักอาศัย โรงแรมที่พัก ร้านค้า ท่ารถมินิบัส รถตู้และที่จอดรถ

วาดแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2566 ไล่เลี่ยกับโปรเจ็กต์ของการรถไฟฯ หากทุกอย่างมาตามนัด รถไฟฟ้าก็มา การลงทุน 2 โปรเจ็กต์นี้ก็ฉลุย

โอกาสจะพลิกโฉม “ฝั่งธนบุรี” ให้เป็นฮับการเดินทางและเวลเนสใหญ่ที่สุด คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม !