ศึกชิง “ดิวตี้ฟรี” ปี”62 เกมนี้เพื่อใคร ?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

 

ใกล้ได้ข้อสรุปเข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับโครงการประมูล “ดิวตี้ฟรี” ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และอีก 3 สนามบินในภูมิภาค รวมถึงโครงการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ว่าจะต้องกลับไปเริ่มต้นนับ 1 จากการเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน หรือเดินหน้าต่อเพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่ แทนกลุ่ม “คิง เพาเวอร์” ที่จะหมดสัญญาในปลายกันยายน 2563 นี้

ต้องบอกว่า การประมูลรอบนี้สนุก เข้มข้น น่าติดตาม กว่าทุกครั้งที่ผ่านมาแน่นอน

โดยเฉพาะพื้นที่ดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะเป็นสนามบินหลักของประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินมากที่สุด และมีพื้นที่ดิวตี้ฟรีมากที่สุด

ที่สำคัญ น่าจะเป็นการประมูลที่มีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี และผู้ประกอบการรีเทลรายใหญ่ให้ความสนใจ และพร้อมเข้าร่วมสนามแข่งขันมากที่สุด

และหากสังเกตจากสถานการณ์ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้มีผู้ประกอบการหลายรายเตรียมร่วมวงประมูล พร้อมทั้งเดินเกม “เขย่าขวัญ” ผู้ประกอบการรายเดิมมาเป็นระยะ

โดยเฉพาะดิวตี้ฟรีสัญชาติเกาหลีอย่าง “ล็อตเต้” ที่ได้เข้ามาลงทุน “ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี” ที่ศูนย์การค้าโชว์ดีซี ในย่านพระราม 9 รอไว้แล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ เนื่องจากยังติดล็อกเรื่อง “จุดส่งมอบสินค้า” หรือ pick up counter ที่สนามบินที่ยังไม่เปิดเสรี

หรือกลุ่ม “เซ็นทรัล” ยักษ์ค้าปลีกของไทยที่ร่วมทุนกับกลุ่มดีเอฟเอส สิงคโปร์ ก็ประกาศลงแข่งเต็มที่ เช่นเดียวกับกลุ่มเดอะมอลล์, บางกอกแอร์เวย์สรวมถึง Shera Duty Free ที่คาดว่าไม่น่าพลาดร่วมสนามแข่งในรอบนี้

การประกาศตัวของผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้เป็นเพียงแค่คำตอบ “ปลายทาง” ที่จะบอกว่า มีใครบ้างที่สนใจเท่านั้น

แต่ประเด็นสำคัญของการประมูลรอบนี้ คือ อยากให้ผู้อ่านและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลครั้งนี้ เปิดใจรับฟังข้อมูลจากหลาย ๆ ส่วนให้รอบด้าน ใช้เหตุใช้ผลพิจารณาบนพื้นฐานความเป็นจริงของธุรกิจ และอยู่ภายใต้กฎ กติกา ที่กำกับดูแล

ไม่อยากให้คิดกันเองว่า มันควรจะเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ เพราะถ้าทุกคนคิดกันเองแบบไร้กฎ กติกา ร้อยคนก็ร้อยความคิด เมื่อต่างคนต่างคิดว่าตัวเองคิดถูก ทำถูก ท้ายที่สุดย่อมนำมาซึ่งความ “ขัดแย้ง” และหาจุดที่เห็นร่วมกันได้ยาก

เห็นชัดเจนจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่กลุ่ม “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” เข้ามาลงทุน ถ้าจำไม่ผิดในปีนั้น “รวิฐา พงศ์นุชิต” นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย พร้อมด้วยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเสรีดิวตี้ฟรี ด้วยการทำหนังสือร้องเรียนไปยังองค์กรต่าง ๆ บีบให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. เปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า หรือ pick up counter ในสนามบินหลัก ๆ

แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะ ทอท.เองก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงแค่บอกว่าให้รอสัญญาเดิมสิ้นสุดลงก่อน แล้วค่อยมาปรับเปลี่ยนกฎ กติกากันใหม่

นับตั้งแต่นั้นมา ทอท.กลายเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการ “ผูกขาด” ธุรกิจดิวตี้ฟรี และเป็นประเด็นที่กล่าวขานกันมาจนถึงขณะนี้

ทั้ง ๆ ที่รูปแบบการทำธุรกิจเมื่อ 12-13 ปีที่ผ่านมานั้น ก็ไม่มีใครที่พูดว่าหลักการให้สัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรี ต้องแยก pick up counter ออกมา

เช่นเดียวกับกรณีการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ หรือ minimum guarantee ที่ ทอท.ใช้หลักการคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อคูณด้วยจำนวนผู้โดยสาร และมีสเต็ปที่ต้องจ่ายตามเปอร์เซ็นต์จากยอดขายอยู่แล้ว

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน หากผลตอบแทนในสัญญาเดิมจะดูต่ำกว่าความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะในช่วงปี 2548-2549 ซึ่งเป็นปีเริ่มเปิดสนามบินสุวรรณภูมินั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยรวมกันมีจำนวนเพียงแค่ 11-12 ล้านคน

ในทางกลับกันหากถามว่า สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เป็นใคร แล้วสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นใคร คนในวงการก็รู้กัน ทั้ง 2 องค์กรนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนไหน

คำถามที่ตามมาก็คือ ประเด็นที่ออกมาเรียกร้องนั้น ทำเพื่อใคร ? เพื่อประเทศชาติจริง ๆ หรือ ?

ประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้ หลายคนตกเป็น “เหยื่อ” บางคนถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ของความคิดต่าง

ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายคิด ทำ และเล่นอยู่ในกฎ กติกา เพราะสุดท้ายแล้วเชื่อว่าตอนจบของการประมูลครั้งนี้คงมีทั้งคนที่ “สมหวัง” และคนที่ “ผิดหวัง” แน่นอน !