รับมือศึกการค้า-สงครามค่าเงิน

แฟ้มภาพ
บทบรรณาธิการ

สงครามการค้าสหรัฐกับจีนปะทุขึ้นอีกครั้งหลังโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนสองฝ่ายช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไร้ข้อยุติ ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 5.7 พันรายการ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.3 ล้านล้านบาท จาก 10% เป็น 25% มีผลหลังเที่ยงคืนวันที่ 10 พ.ค. 2562 ตามเวลาในสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังเตรียมจะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่เพิ่มอีกหลายรายการ มูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนก็พิจารณาขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นการตอบโต้ สร้างความวิตกกังวลให้กับนานาประเทศที่หวั่นเกรงว่าสงครามทางการค้าของสองมหาอำนาจจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวให้ย่ำแย่ลงอีก

แม้นายหลิว เหอ หัวหน้าคณะเจรจาการค้าของจีน จะชี้ว่า การเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐไม่ถึงกับถูกปิดฉาก และมองในทิศทางบวกว่าทั้งสองฝ่ายยังมีโอกาสจะสานต่อการเจรจาระหว่างกัน

Advertisment

แต่ท่าทีที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ใช้วิธีกดดันด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามค่าเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวน เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ 6.7954 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.42% ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนสุดในรอบกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ค่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ในระดับ 31.60-31.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ซึ่งจับตาและเกาะติดสถานการณ์การเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนต่อเนื่อง หลังทราบข่าวโต๊ะเจรจาไม่มีความคืบหน้า แถมล่มกลางคัน ฉุดดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง ผลพวงจากความกังวลประเด็นสงครามทางการค้า

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลภาคการเงิน การคลัง การส่งออก ฯลฯ ต้องไม่ประมาทวางใจ หรือประเมินในทิศทางบวกมากเกินไปและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจพลิกผัน ไม่แน่นอน ซึ่งจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก จะได้ปรับตัวในเชิงรุก หรือตั้งรับได้ทันท่วงที

ขณะที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ต้องเกาะติดข่าวคราวความเคลื่อนไหวสงครามการค้า กับสงครามค่าเงินซึ่งอาจจะมีตามมาอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบทั้งด้านลบและบวกไว้ล่วงหน้า

Advertisment

สำคัญที่สุดคือต้องเร่งป้องกันแก้ไขและปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ เพราะจะเป็นหนทางเดียวที่จะยืนอยู่ได้ท่ามกลางศึกการค้า สงครามค่าเงิน