“ไข่เค็ม – โอ่งแมว” วัฏจักรธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

ยามนี้สารพัดเมนู “ไข่เค็ม” พาเหรดมาโชว์ตัวกันเต็มจอ กลายเป็น “ของมันต้องมี” ถ้าจะเป็นแบรนด์แถวหน้า ไม่ว่าจะเป็นมันฝรั่งหรือสาหร่ายทอดกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดนัท ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ แม้แต่กาแฟ ! และคงจะมีพาเหรดมาอีกมาก

ทำให้นึกย้อนไปถึงวันแห่ง “ชาเขียว” และ “ชาร์โคล” ซึ่งก็มี “จุดพีก” ก่อนซาลงเปิดทางให้เทรนด์ใหม่
“มาก่อนรวยก่อน” ไม่แน่นอนเสมอไป “ไข่เค็ม” เป็นตัวอย่างชัด เพราะมีในตลาดไทยมานาน ตั้งแต่พื้น ๆ อย่างอาหารคาวกับขนมเปี๊ยะ ไปจนถึง “ไข่เค็มไข่หวาน” (บัวลอย)

แต่ที่ทำให้ฮอตฮิตสุด ๆ ก็ด้วยความแรงทะลุประเทศของ “หนังปลากรอบรสไข่เค็ม” จากสิงคโปร์ ที่กระตุ้น “ไอเดีย” จับคู่รสชาติไข่เค็มกับสารพัดสิ่งมากมาย จนกลายเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคเกิดความเบื่อเอียนได้เร็วขึ้น แต่ก็บอกยากว่าวัฏจักรไข่เค็มนี้จะยืนยาวแค่ไหน เพราะธุรกิจอาหาร ความ “อร่อย” คือสิ่งที่ยั่งยืนเหมือนที่ทุกวันนี้ “ชาเขียว” ไม่ได้บูมสุด ๆ แต่เมนูที่อร่อยก็ยังขายได้เรื่อย ๆ

หันมาที่การค้าขายบนโลกออนไลน์ “เทรนด์” หมุนเร็วระดับ 4G เปลี่ยนไวยิ่งกว่าโลกออฟไลน์ ยกตัวอย่างกระแสเล็ก ๆ ช่วง 2-3 เดือนที่อากาศร้อนมาก คือการตามหา “โอ่งแมว” “บ้านแมว” ของบรรดา “ทาสแมว” หนึ่งในตลาดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีมูลค่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวน pet lover ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะ “โสด” และ “สูงวัย” โดยในประเทศไทยนั้น ทั้งโรงพยาบาลสัตว์และแบรนด์อาหารสัตว์ชั้นนำ ประเมินว่าเมื่อปี 2561 น่าจะมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท

“โอ่งแมว” คือเครื่องปั้นดินเผารูปคล้ายโอ่ง ออกแบบให้แมวเข้าไปนอนคลายร้อนได้ โดยมีถาดใส่น้ำแข็งหรือน้ำด้านบนเพื่อให้ตัวโอ่งเย็นอยู่ตลอดเวลา ปกป้องไม่ให้แมวเกิดฮีตสโตรก ซึ่งเป็นไอเดียผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมที่หาทางอยู่รอดในยุคที่ภาชนะแบบเดิม ๆ ลดลง จริง ๆ โอ่งแมวมีขายมานานแล้วแต่ในวงแคบ ๆ จนเมื่อไม่กี่เดือนนี้มีผู้ผลิตบางราย “ได้ออกสื่อ” จึงเตะตาทาสแมวแบบ mass จน #โอ่งแมว #บ้านแมว ถูกทวีตอย่างต่อเนื่อง ผู้ขายโอ่งแมวทั้งตลาดได้อานิสงส์กันหมด

ยอดขายผ่าน “เพจเฟซบุ๊ก” พุ่งพรวด แต่ละเพจลงสินค้าลอตหนึ่งเป็นร้อย ๆ ใบ ประกาศขายไม่ถึง 24 ชั่วโมงเกลี้ยง ! และด้วยข้อจำกัดของสินค้าดินเผาที่ต้องใช้เวลาผลิตนาน จึงกลายเป็นสินค้าหายาก เปิดช่องให้ปรับราคาขายได้ทันทีจนผู้ขายบางร้านถึงกับเอ่ยปากว่า “มีเงินตอนนี้ ซื้อทองง่ายกว่าหาซื้อโอ่งแมว” แต่ด้วยการ “copy” โอ่งแมวไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่ทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่แล้ว (ซึ่งมีไม่น้อยในประเทศนี้) ความฮอตฮิตแพงเว่อร์จึงอยู่ได้ไม่นานก็เกิดผู้ค้าหน้าใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดและ “ตัดราคา” ทันที ผลที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าแห่ไปที่ผู้ค้าหน้าใหม่ โอ่งแมวเจ้าของดั้งเดิมที่อัพราคาขึ้นไปก็เริ่ม “เหลือ” แถมฝนเริ่มตกมาคลายความร้อนของอากาศเข้ามาลดดีมานด์ลูกค้า

ฟาก “รายใหม่” ที่ตีตลาดตัดราคาจนได้คำสั่งซื้อล้นหลาม แต่ด้วยยังไม่ “เก๋าเกมธุรกิจ” จึงเริ่มเกิดปัญหาออร์เดอร์เริ่มตกหล่น แพ็กของส่งไม่ทัน QC สินค้าผิดพลาด ลูกค้าเริ่มโพสต์ท้วงถามสินค้า ให้คอมเมนต์ในทางลบบนหน้าเพจ “ความยั่งยืน” ของธุรกิจเริ่มสั่นคลอน

นี่เป็น “วัฏจักร” ที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องประสบเกือบทุกราย ไม่ว่าจะเป็นการถูก copy ออกมาวางขายเกลื่อนแถมตัดราคา ทางรอดคือต้องเป็น “ตัวจริง” ที่ไอเดียดีกว่า (copy ยาก) คุณภาพสินค้าและบริการดีกว่า

เมื่อย้อนกลับไปดูกรณีโอ่งแมวมี “รายเก่า” หลายรายที่แม้จะไม่ใช่ต้นคิดไอเดียโอ่งแมวเป็นรายแรก แต่มีความ “เก๋า” ในทางธุรกิจ ทั้งการดีไซน์สินค้าใหม่ ๆ ตามเทรนด์ตลาดอยู่เสมอ โชว์เทคนิคการผลิตให้สินค้าแตกต่างชัดเจน จนผู้บริโภคยอมจ่ายแม้จะแพงกว่า “ดีด” ตัวออกจากสงครามราคาได้

ที่สำคัญคือ “รู้ข้อจำกัด” ของตัวเองและผลิตภัณฑ์ จึงประกาศชัด “สั่งออนไลน์ได้แต่ไม่ส่ง” ตัดภาระที่ต้องรับผิดชอบการแตกหักของสินค้า แต่ก็ “หาทางออกให้ลูกค้า” ที่ไม่สะดวกมารับเองที่ร้าน เรียกใช้บริการ LINE MAN, Grab, Get ฯลฯ มารับแทน พร้อมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านทางเพจ ให้ทั้งลูกค้าและว่าที่ลูกค้าที่ซุ่มส่องดูข้อมูลรู้สึกดีและเชื่อมั่นกับร้านได้จนเกิดการซื้อครั้งแรก และ “ซื้อซ้ำ”

จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถสืบทอดกิจการจาก “รุ่นทวด” ถึงปัจจุบันได้