อนิจจาเศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ต้องบอกว่าผลพวงจากกรณีของ “หัวเว่ย” เป็นตัวเร่งสำคัญ ส่งผลโดยตรงทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความวุ่นวาย จริงอยู่ไม่มีใครหยั่งรู้ว่าผลกระทบจะมากน้อย และกินเวลายาวนานแค่ไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ แล้วก็คือ ผลกระทบทางจิตวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยอยู่ในวงจรของเศรษฐกิจการค้าโลก เราทำมาค้าขายกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกว่ากันตามสถานการณ์ ถึงไม่มีสงครามการค้า tech war สหรัฐไม่อาละวาดเอากับหัวเว่ย เพื่อหวังผลไปถึงจีนที่มีปัญหากันข้ามปี ไทยเราก็ย่ำแย่พอสมควรอยู่แล้ว

ประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากวีกเอนด์ต่อเนื่อง 3 วัน เริ่มจาก “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งมีกำหนดจะแถลงในเช้าวันอังคารที่ 21 อยู่ก่อนแล้ว ส่งสัญญาณว่า การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สภาพัฒน์ระบุว่า ผลพวงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน กดตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ติดลบลงไปถึง 3.6% บวกกับบรรยากาศการเมืองที่อึมครึม ฉุดภาคการใช้จ่ายทั้งภาครัฐและการบริโภคของประชาชน กลายเป็นว่าไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 2.8% ต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส

ตัวเลขดังกล่าวได้รับการสอดประสานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เตรียมรื้อเป้าหมายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

“ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่า จีดีพีไตรมาส 1 ที่ลดลงเหลือ 2.8% เป็นตัวเลขที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เคยประเมินเอาไว้ธปท.ย้ำว่า ยังคงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน

ตัดไปที่รัฐบาล บ่ายวันเดียวกัน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะทำได้เร็วเท่านั้น รองนายกรัฐมนตรียอมรับด้วยว่า เศรษฐกิจโลกมีปัญหาหนักมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง

รุ่งขึ้น พุธที่ 22 พฤษภาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่น 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ประจำเดือนเมษายน 2562 พบว่าอยู่ในระดับ 95.0 ลดลงจาก 96.3 ในเดือนมีนาคม
ลดลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ต่างจังหวัด ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตฯ อธิบายว่า ผู้ประกอบการกังวลต่อกำลังซื้อที่ลดลงโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการส่งออกที่หดตัวอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของการค้าโลก บรรยากาศหลังประธานาธิบดีสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน และซ้ำดาบสองกับ “หัวเว่ย” สร้างความกังวลอย่างต่อเนื่อง

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า สงครามการค้าครั้งนี้คือของจริงไม่ใช่การขู่ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ในส่วนของสภาอุตฯ คาดว่าส่งออกของไทยในปี 2562 จะปรับตัวลดลงเหลือ 0-1% จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 3-5% ขณะที่ GDP จะอยู่ที่ 3.4-3.5%
เรียลเซ็กเตอร์ของไทยหวั่นใจกันว่า หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด ที่มีมูลค่า 320,000 ล้านบาท จะยิ่งฉุดให้ส่งออกต่ำกว่า 0% แน่นอน

คำร้องขอของรองประธาน ส.อ.ท.ก็คือ อยากให้รัฐบาลรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม แรงงาน คลัง ร่วมกับภาคเอกชนตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ (war room) ขึ้นมาโดยเร็วที่สุด

หันกลับมาดูการเมืองไทย ยังชุลมุนกับการแบ่งฝักฝ่าย แบ่งกระทรวง จับขั้วตั้งรัฐบาล

สรุปสั้น ๆ…นาทีนี้เรายังไม่มีความหวังจากการเมืองไทย