คณิศ แสงสุพรรณ EEC GAME CHANGER เปลี่ยนประเทศ

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ทั้ง 12 อุตสาหกรรมได้ถูกวางให้เป็น game changer หรือการพลิกประเทศไทย ให้ก้าวพ้น “กับดัก” ประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปให้ได้ ด้วยการใช้นโยบาย Thailand 4.0 นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประเทศ ดึงดูดการลงทุนและผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเอเชีย โดยตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยเติบโตได้เกิน 3% การลงทุนจากภาคเอกชนขยับขึ้นมาบวกที่ 4.4% ในไตรมาส 1/2562

ในขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่พร้อมจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่ประเทศไทยยังคงใช้ EEC เป็นตัวขับเคลื่อนหลักต่อไป และพร้อมเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่พิเศษในภาคอื่น ๆ ของประเทศด้วย

Thailand 4.0 นโยบายประเทศ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวในงานสัมมนา GAME CHANGER เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต Part 2 ในหัวข้อ EEC GAME CHANGER เศรษฐกิจการค้าการลงทุนไทยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจต้องเผชิญกับภาวะความเสี่ยง จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยรัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศนโยบาย Thailand 4.0 แล้วจึงเกิด EEC และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามมา เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างรายได้ให้ประเทศเพื่อดึงนักลงทุนและเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้ GDP ของไทยสามารถโตได้เกิน 3% ตามแผน 5 ปี EEC จะสะสมการลงทุนให้ประเทศในสัดส่วนถึง 10% จากเดิมอยู่ที่เพียง 5% เท่านั้น

ใช้โมเดล EEC ขยายไปภาคอื่น

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็น game changer ที่ต้องทำอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการดึงดูดการลงทุนเข้ามาเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนในพื้นที่ EEC ได้รับประโยชน์ไปด้วย สร้างงาน สร้างรายได้ ด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตเทียบเท่ากรุงเทพฯ และนี่จะเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อขยายไปพื้นที่อื่น ๆ ขอนแก่นบวก 5 จังหวัดรอบ ๆ เชียงใหม่+ลำพูน ภูเก็ต+พังงา+ตรัง เพื่อผลักดันการท่องเที่ยว ในขณะที่ความร่วมมือจะยังคงเป็นพื้นฐานของ EEC การจับมือลงนาม MOU กับต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น-จีน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ทั้ง 2 ประเทศนี้มุ่งเป้าเข้ามาลงทุน

“EEC คือ อนาคตในการสร้างเมืองใหม่ ที่จะเกิดการเชื่อมโยงเป็นชิ้นเดียวกันในลักษณะของเมืองคู่แฝด อย่างกรุงเทพฯกับ EEC โตเกียวกับโยโกฮามา โซลกับอินชอน นิวยอร์กกับนิวเจอร์ซีย์ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องสานต่อ จะทำให้กรุงเทพฯบางลง ขณะเดียวกันเกิดการสร้างงานเเละธุรกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยมากขึ้น” นายคณิศกล่าว

เร่ง 5 บิ๊กโปรเจ็กต์

นายคณิศได้กล่าวถึง 5 โครงการหลัก ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของ EEC Project List หรือ “หัวใจหลักของ EEC” ว่า จะมีเงินลงทุน 650,000 ล้านบาท โดยมาจากรัฐลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นภาคเอกชน โดยรัฐจะได้ผลตอบแทนประมาณ 450,000 ล้านบาท โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 182,524 ล้านบาท ที่จะเปิดดำเนินการในปี 2566 เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้ว พร้อมกับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 55,400 ล้านบาท ที่จะเปิดดำเนินการปี 2568

ขณะที่โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท ที่จะเปิดดำเนินการปี 2566 รวมถึงโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ร่วมลงทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส มูลค่า 10,588 ล้านบาท ที่จะเปิดดำเนินการปี 2565 และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่า 84,360 ล้านบาท ที่จะเปิดดำเนินการปี 2566 ทั้งหมดน่าจะได้รับความเห็นชอบและลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนในเดือนมิถุนายนนี้

ดึงดูดลงทุน 670,000 ล้านบาท

ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve นับว่า “ได้ผลดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก” และล่าสุด กพอ.ได้เพิ่มอุตสาหกรรม S-curve อีก 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กับอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ขึ้นมาเป็นเป้าหมายพิเศษรวมเป็น 12 อุตสาหกรรม พร้อมกับตั้งเป้าว่าในปี 2562 EEC จะดึงการลงทุนจาก S-curve เข้ามาได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท

“จะเห็นได้ว่าปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ EEC มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาประมาณ 670,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยเป็นคำขอในจังหวัดฉะเชิงเทรา 60,800 ล้านบาท ระยอง 58,700 ล้านบาท และชลบุรี 555,810 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า EEC จะมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 475,674 อัตรา แบ่งเป็น อาชีวะ 253,114 อัตรา ปริญญาตรี 213,943 อัตรา ปริญญาโทและปริญญาเอก 8,617 อัตรา ในกลุ่มดิจิทัล โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” นายคณิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการลงทุนแล้ว EEC ยังต้องการที่จะยกระดับในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น สาธารณสุข กำหนดเป้าหมายให้มีโรงพยาบาลที่ครอบคลุมการรักษาทุกด้าน ด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลและระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และในอนาคตจะส่งผลต่อการลงทุน มีการสร้างเครือข่ายด้านการแพทย์มากขึ้น และล่าสุด กพอ.ได้อนุมัติโครงการแผนบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยขึ้นเพื่อให้บริการถอดรหัส และตรวจสอบทางพันธุกรรมที่จะมีผลต่อการผลิตยาในอนาคต

“แน่นอนว่า EEC ได้กำหนดแผนพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา 86 โครงการ มูลค่า 13,572 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์จัดการขยะมูลฝอย ขยะติดเชื้อ ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม เรามีแผนพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)


โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถใช้ EEC สร้างฐานการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจและการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง เพื่อสร้างกำลังผลักดันประเทศ ขณะนี้ทิศทางไทยแลนด์ 4.0 มีความมั่นคง พร้อมที่จะนำคนไทยหลุดจากรายได้ปานกลางและมีรายได้ที่ยั่งยืน และที่สำคัญคือทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของเอเชียอีกครั้งหนึ่ง” นายคณิศกล่าว