หัวใจหลัก TTM+ โปรดักต์ (ต้อง) ตอบโจทย์ผู้ซื้อ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

 

ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับงาน Thailand Travel Mart Plus 2019 หรือ TTM+ 2019 งานใหญ่ระดับอินเตอร์ของวงการท่องเที่ยวของไทย ที่จัดขึ้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อ 5-7 มิถุนายนที่ผ่านมา

ว่ากันว่า งานนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งใจเนรมิตพื้นที่จัดงาน ณ โอเชี่ยน มารีน่า ยอชต์คลับ ให้เป็นแหล่งเจรจาธุรกิจ พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยสู่ตลาดโลกอย่างภาคภูมิ

โดยมีผู้ซื้อ (buyer) ทั้งหมด 351 ราย ในจำนวนนี้เป็น hosted buyer 250 ราย international buyer 60 ราย และ domestic buyer 41 ราย จาก 51 ประเทศทั่วโลก

เรียกว่ามาทั้งจากยุโรป อเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แปซิฟิกใต้ ฯลฯ รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ในฟากผู้ขาย หรือ seller ก็มีจำนวนกว่า 370 ราย ทั้งที่เป็น hotel and resort business, emerging destinations, entertainment business, tour operator/travel agent, national tourism organization (NTOs) ฯลฯ

นับเป็นอีเวนต์ที่ทำให้ผู้ซื้อจากทั่วโลกและผู้ขายในไทยและใกล้เคียงได้มาเจรจาและสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมกัน อีกทั้งยังช่วยลดภาระของผู้ประกอบการเล็ก ๆ ในการที่ทำการตลาดต่างประเทศอีกด้วย

โดยจุดเด่นของงาน TTM+ ในปีนี้ คือ การให้ความสำคัญกับเมืองรอง โดยมี showcase สินค้าของเมืองรอง เพื่อสนับสนุนผู้ขายหน้าใหม่นอกพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลักที่เคยเข้ามาร่วมงานนี้เป็นประจำอยู่แล้ว

โดย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คาดการณ์ไว้ว่า งานนี้จะช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการตอบรับของผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะในฟากผู้ซื้อนั้นพบว่า buyer ส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า รูปแบบการจัดงานสวยงามและมีคอนเซ็ปต์ที่ดี แต่ในแง่ของโปรดักต์และบริการที่นำมานำเสนอนั้นยังไม่ค่อยตอบโจทย์ความต้องการของบายเออร์มากนัก

บางรายบอกว่า โปรดักต์ที่นำมาเสนอนั้น กว่า 80% เป็นกลุ่มโรงแรม เยอะเกินไป ทำให้โปรดักต์ที่นำมาขายในภาพรวมในงานไม่หลากหลาย

บางรายบอกว่า เขามองหาสินค้าที่เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว (activity) แต่ที่นำมาเสนอยังไม่หลากหลาย เพราะมีทัวร์โอเปอเรเตอร์ที่เข้ามานำเสนอสินค้าไม่มากนัก

บางรายบอกว่า เขาพยายามมองหาโปรดักต์ที่เป็นเวลเนส เพราะรับรู้มาว่าไทยเป็นเมืองที่มีโปรดักต์และแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเวลเนสเยอะมาก แต่สุดท้ายก็มองหาไม่เจอ

ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า รูปแบบการจัดงานดี แต่โปรดักต์และบริการที่นำมานำเสนอนั้นยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ไม่เต็มอิ่มนัก

และจากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับ “มิ่งขวัญ เมธเมาลี” ในฐานะอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) “มิ่งขวัญ” มองว่า หากมองในเรื่องของรูปแบบและคอนเซ็ปต์ของการจัดงานถือว่าดีมาก แต่อยากให้ภาครัฐและ ททท.มองในมุมที่ว่าทำอย่างไรถึงจะดึงให้บายเออร์จากทั่วโลกอยากเข้ามาร่วมงานที่จัดในประเทศไทย และอยากให้รูปแบบการจัดงานของไทยเป็นแม่แบบให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

พร้อมทั้งยังเสนอแนะด้วยว่า นอกจากการจัดงานที่สวยงามแล้ว อยากให้มีการแบ่งโซนของโปรดักต์และบริการให้ชัดเจน เช่น โรงแรม 60% กิจการด้านการท่องเที่ยว (activity) ซึ่งนำเสนอโดยบริษัทนำเที่ยว อีกสักประมาณ 30% ที่เหลืออีก 10% อาจเป็นสปาแอนด์เวลเนส และอื่น ๆ

รวมทั้งแบ่งให้ชัดเจนลงไปอีกว่า ในส่วนของโรงแรมนั้นควรมีโรงแรมที่เป็นเลเชอร์ทั่วไปเท่าไหร่ โรงแรมที่เป็นลักเซอรี่เท่าไหร่ เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านการยกระดับการท่องเที่ยวของไทยสู่การท่องเที่ยวแบบคุณภาพหรือตลาดลักเซอรี่อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขาย “กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว” มากกว่าขาย “เดสติเนชั่น” เพราะที่ผ่านมา “ไทยแลนด์ เดสติเนชั่น” นั้นเป็นที่รับรู้ในตลาดทั่วโลกแล้ว

โดยสิ่งที่บายเออร์ทั่วโลกอยากรู้ในวันนี้ คือ ในความเป็น “ไทยแลนด์ เดสติเนชั่น” นั้นมี activity หรือกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอะไรบ้าง มีโปรดักต์ใหม่อะไรบ้าง ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ทางสมาคมแอตต้าอยากขอโอกาสและพื้นที่ในงาน TTM+ เพื่อร่วมผลักดันการขาย activity ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในปีถัดไปด้วย

เสียงสะท้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับการจัดงาน TTM+ 2019 ในปีนี้ ผู้เขียนก็ขอเอาใจช่วยให้ทั้งฟากหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันมากขึ้น ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อร่วมผลักดันให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยมีความโดดเด่น ชัดเจน และสามารถดึงดูดผู้ซื้อจากทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น…