นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

ไทยมีเกษตรกรกว่า 7 ล้านครอบครัว สร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2561 ตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานที่แข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาความยากจน แต่ในวันนี้ไทยมุ่งอัพเกรดสินค้าเกษตรสู่สินค้านวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรให้พ้นความยากจน

ล่าสุดผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงาน Thailand Rice Convention 2019 และ งานแสดงสินค้าอาหารโลก THAIFEX 2019 ซึ่งเป็นงานที่มีการนำนวัตกรรมสินค้าเกษตรขึ้นมาจัดแสดงโชว์ศักยภาพมากมาย เช่น ข้าว จะไม่ใช่แค่แปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว ข้าวสุขภาพ low GI หรือเครื่องดื่มอย่างเดิมแล้ว เพราะวันนี้ได้มีผู้พัฒนาข้าวก้าวล้ำไปสู่ “สารสกัดโปรตีน” ลงลึกไปถึงขั้นการผลิต “สเต็มเซลล์จากข้าว” โดยนวัตกรรมนี้ถูกคิดค้นโดยบริษัทคนไทยชื่อ บริษัท สเปเชียลตี้ อินโนเวชั่น จำกัด ช่วยต่อยอดดึงเอาสารสกัดที่มีประโยชน์ออกมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวสาร กก.ละ 30 บาท สู่สารสกัดที่ใช้เป็นส่วนผสมในเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง กก.ละ 30,000 บาท เปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิมและเป็นความหวังของเกษตรกร

สินค้านวัตกรรมที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอด ไม่ใช่เพียงเฉพาะข้าวเท่านั้น แต่ “สินค้าประมงและปศุสัตว์” ก็ได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกัน ล่าสุดเครือซีพีเอฟได้พัฒนาและวางจำหน่ายสินค้าไก่เบญจา ที่ใช้นวัตกรรมปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโดยใช้อาหารจากธัญพืช ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างเนื้อไก่เปลี่ยน เกิดความนุ่ม ไขมันน้อย ไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งในอนาคตมองไปถึงการพัฒนาไก่สู่การรับประทานแบบซาชิมิไก่เลยทีเดียว และมีแผนจะขยายต่อไปยังเนื้อหมู กุ้ง รวมถึงไข่ ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังได้พัฒนานวัตกรรมขั้นปลาย นำระบบการซีลมาใช้เก็บอาหารสดให้คงความสด แทนการฟรีซแบบในอดีต เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เน้นสุขภาพ ต้องการสินค้าแบบสดที่ไม่ได้เกิดจากการแช่แข็ง

ขณะที่ฟากฝั่งคู่แข่งอย่างเครือเบทาโกรร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น รุกทำวิจัยพัฒนาการเลี้ยงแมลงวันสายพันธุ์ “black soldier fly” มากำจัดขยะอินทรีย์และพัฒนาไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์โปรตีนสูง เท่ากับเป็นการจัดการระบบนิเวศในโรงงาน และขับเคลื่อน circular economy โดยโรงเรือนต้นแบบจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ มีกำลังการผลิตตัวหนอนแมลงกินขยะอินทรีย์ (black soldier fly) จำนวน 3,000,000 ตัวต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรยกระดับไปเป็นอาหารคนถือว่าดีงามมากแล้ว แต่ตอนนี้ได้มีการยกระดับผลิตสินค้าเกษตรไปสู่การสร้างเวชภัณฑ์ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดที่เอกชนไทยสามารถทำได้ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ล่าสุดบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เจ้าตลาดทูน่ากระป๋องเดินเกมพัฒนานวัตกรรมจากบายโปรดักต์ที่เหลืออยู่ มูลค่าเกือบจะเป็นศูนย์ไปสู่สินค้านวัตกรรมขั้นสูงแล้ว 2 รายการ คือ น้ำมันปลาทูน่า ที่สกัดจากส่วนหัวและตาปลาทูน่า และแคลเซียมทูน่าที่ดึงมาจากก้างหรือกระดูปลา ซึ่งในแต่ละปีทียูมีบายโปรดักต์จากการผลิตปีละ 1.3 แสนตัน เป็นหัวปลาทูน่า 5% เป็นกระดูกปลา 5% ไม่นับรวมส่วนอื่น ๆ ซึ่งภาพรวมในตัวปลาทูน่า 1 ตัว ทียูสามารถขายบายโปรดักต์ได้เกินกว่า 90% แล้ว

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเอากระดูกปลาไปขายเป็นปุ๋ยจะได้เงิน กก.ละ 0.2 เหรียญสหรัฐ แต่เมื่อนำมาสกัดใช้ผลิตเภสัชภัณฑ์มีโอกาสได้ราคาเพิ่มเป็น กก.ละ 100 เหรียญสหรัฐ เรียกว่าเพิ่มมูลค่าเป็น 100 เท่า จนเป็นที่กล่าวกันว่าในอนาคตการขายบายโปรดักต์อาจจะมีมูลค่าแซงการขายปลากระป๋องไปเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่าง “เอกชนไทย” วางกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจเกษตรเพื่อฉีกหนีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งถือเป็นทางเลือกทางรอดที่สำคัญของสินค้าเกษตรไทย ไม่ใช่ทำให้บริษัทได้รายได้เพิ่ม แต่ยังเป็นอนาคตของเกษตรกรไทยด้วย