ถึงเวลากวาดบ้าน…จัดการ โรงฆ่าเถื่อน ?

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์

“สื่อต่างชาติรายหนึ่งสร้างเรื่องราวฟ้องชาวโลกว่า ประเทศไทยโหดร้ายใช้แรงงานประมงเยี่ยงทาส ใส่สีเติมไข่จนบานปลาย ส่งผลให้ชาวประมงและรัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาไอยูยูอยู่ยาวนานหลายปี ผลกระทบครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก เป็นเหตุให้ต้องรื้อระบบการทำประมงของไทยยกใหญ่ทีเดียว

มาวันนี้สื่อต่างชาติรายเดิม หวังเล่นงานประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการนำเสนอข่าวโรงฆ่าหมูในไทยว่า ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างโหดร้าย หยิบยกความทุกข์ทรมานของหมูขึ้นมาพูดถึง และเล่ารายละเอียดถึงวิธีการฆ่าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) พร้อมระบุว่า โรงฆ่าสัตว์ระดับกลางและเล็กทั่วทุกภูมิภาคของไทยล้วนมีรูปแบบนี้ เรียกว่ากระทบการทำงานของกรมปศุสัตว์โดยตรง

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ติดตามสื่อนี้มาพอสมควร อ่านแล้วก็ยอมรับว่าโมโห ก็ในเมื่อประเทศเราไม่ได้ล้าหลังขนาดนั้น โรงฆ่าสัตว์ระดับมาตรฐานก็มีอยู่มากมายหลายแห่ง แต่สื่อรายนี้กลับเขียนแบบเหมารวม จนทำให้ภาพลักษณ์ประเทศผู้ผลิตอาหารต้องเสียหาย

ผมไม่รู้ว่าตัวเลขจำนวนโรงฆ่าสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ในปัจจุบันมีกี่แห่ง เป็นโรงงานมาตรฐานกี่แห่ง แต่ลึก ๆ ก็คิดว่าคงยังมีโรงฆ่าที่ไม่ได้มาตรฐาน และโรงฆ่าเถื่อนที่ลักลอบรับฆ่าหมู แต่ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนกับรัฐ ก็น่าจะมีอยู่หลายแห่ง

เมื่อได้อ่านข้อมูลของ ศ.(กิตติคุณ) น.สพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาโรงฆ่าในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เคยเขียนถึงเรื่องโรงฆ่าสัตว์ ก็ได้ประวัติความเป็นมาของโรงฆ่าสัตว์พอสมควร… ความตอนหนึ่งว่า

“แต่เดิมทางราชการหรือส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/สุขาภิบาล) จะเป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบและดำเนินการโรงฆ่าสัตว์ ตามหลักการของการเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรัฐพึงจัดหา เป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ได้มีเนื้อสัตว์ที่ผ่านการฆ่าที่ถูกสุขอนามัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจนกระบวนการฆ่าก็จะไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ที่ถูกนำมาฆ่า ทั้งยังมีการรับรองจากความเชื่อทางศาสนา เช่น การฆ่าสัตว์ปีก ในอดีตนั้นจึงไม่มีโรงฆ่าที่ทันสมัยถูกสุขอนามัย ยกเว้นโรงฆ่าสัตว์ปีก (ไก่) ที่ดำเนินการเพื่อการส่งออก และโรงฆ่าทันสมัยที่ กทม. (กล้วยน้ำไท) เท่านั้น แม้กระนั้นกระบวนการฆ่าก็ยังมีที่ไม่ได้มาตรฐานจวบจน ปี 2535 มี พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เกิดขึ้น โดยมีการถ่ายโอนการควบคุมการฆ่าไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รณรงค์ให้เกิดกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงความปลอดภัยของอาหาร (food safety) จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในโรงฆ่าสัตว์ โค กระบือ และสุกร แต่เนื่องจากการปราบปรามโรงฆ่าเถื่อน และโรงฆ่าที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้โรงฆ่าสัตว์เอกชนที่มีมาตรฐาน ประสบปัญหาการแข่งขันของราคา ทั้งต้องจ่ายค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และรวมถึงความหวาดระแวงของการจะต้องชำระภาษีเงินได้จากการทำธุรกิจนี้ กิจการการฆ่าโดยเลี่ยงหรือผิดกฎหมาย และขาดมาตรฐานจึงยังมีอยู่มากกว่า 2,000 โรง” (มติชน 13 ก.ย. 2559)

ผมคาดว่าตัวเลขประมาณการจำนวนโรงฆ่าเถื่อนที่ ดร.อรรณพกล่าวถึง อาจเป็นตัวเลขในอดีต แต่อย่างน้อยก็พอจะมองออกเลา ๆ ว่า มันคงมีจำนวนไม่น้อย ดังนั้นหากจะมองมุมเดียวว่า สื่อต่างชาติจงใจเลือกหยิบโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาโจมตีประเทศไทยคงไม่ได้ ถ้าในเมื่อบ้านเรายังมีปัญหานี้อยู่จริง

ในทางตรงข้าม “กรมปศุสัตว์” น่าจะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการลงทุนพัฒนาปรับปรุงและสร้างให้โรงฆ่าสัตว์ทุกแห่งของประเทศไทยกลายเป็นโรงฆ่ามาตรฐาน และควรจัดการเด็ดขาดกับโรงฆ่าเถื่อนมิให้หลงเหลือ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกโจมตี แต่เพื่อความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภคไทยทุกคน

ยังดีที่หมูไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักเหมือนกุ้ง หรือสินค้าประมง การแก้ปัญหาโรงฆ่าสัตว์ในครั้งนี้จึงไม่น่าจะบานปลายเหมือนเมื่อครั้งแก้ไอยูยู แต่การพัฒนาหรือสร้างโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานก็ย่อมต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ

รวมถึงงบปฏิบัติการด้านจับกุมโรงฆ่าเถื่อน ที่ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสอันดีอีกเหมือนกัน เพราะประเทศไทยกำลังจะได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในรัฐบาลใหม่ ซึ่งน่าจะใช้วาระนี้เตรียมงบประมาณและสร้างผลงานในเรื่องนี้ทันที ไม่เพียงเพื่อตอบโจทย์สำนักข่าวต่างชาติ หรือสร้างการยอมรับจาก NGO ที่เรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ แต่จะได้ใจของผู้บริโภคไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว

ขอเป็นประชาชนอีกคนที่รอชมผลงานกรมปศุสัตว์ และเจ้ากระทรวงเกษตรฯ เอาใจช่วยให้สอบผ่านในประเด็นการแก้ปัญหาโรงฆ่าเถื่อน…ยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในบ้านเราครับ