ค่ายเยาวชน รักษ์พงไพรฯ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์โครงการ “ค่ายเยาวชน…รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ที่ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ด้วยความร่วมมือกันของมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กับอีก 11 หน่วยงานผู้ใหญ่ใจดี ตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม องค์การสวนสัตว์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น

“คุณหญิงปราณี วรรธนะกุล” กรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เล่าย้อนให้ฟังว่า โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่สมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานมูลนิธิ ที่ผลักดันให้ “สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ” เป็น “ป่าเล็กในเมืองใหญ่” ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตามพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

5 ปีที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 50,000 คน ความน่าสนใจของค่ายเยาวชนแห่งนี้คือ การมีศูนย์การเรียนรู้ภายใต้โครงการ 31 แห่งทั่วประเทศ แต่ละศูนย์จะจัดค่ายปีละ 3 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 4 และ 5 ที่ทางโรงเรียนสังกัด สพฐ.ส่งเข้ามาร่วม ราว 60 คนต่อรุ่น พร้อมกับตัวแทนครูของแต่ละโรงเรียนอีก 10 คน

“วัยนี้กำลังเรียนรู้ และให้ส่งครูมาอบรมด้วย เพื่อให้เกิดการต่อยอด ไม่ใช่มาค่าย 3 วันแล้วจบ แต่ให้เด็กนักเรียนกลุ่มแกนนำและครูนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติต่อที่โรงเรียน ที่สำคัญค่ายนี้ไม่ใช่แค่มาสนุก มาเที่ยวมาค้างแรมนอกสถานที่ แต่เราจัดหลักสูตรการเรียนรู้แบบบูรณาการให้กับเด็ก ๆ ตลอด 3 วันที่เข้าค่าย ที่เน้นการปลูกฝังให้เด็กอยู่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงพื้นที่ให้สัมผัสธรรมชาติจริง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้และให้ลงมือทำจริง ๆ ด้วยการออกแบบหลักสูตรให้เป็นการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ ได้ตระหนักและปลูกฝังอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ยัดเยียดผ่านการท่องจำ”

“เสียงหัวเราะ” ตลอด 3 วันของเด็ก ๆ ในค่าย บ่งบอกว่า เด็ก ๆ สนุกแค่ไหนกับการได้คลุกดินโคลนทำปุ๋ยจากขยะ ได้เดินส่องดูนก เรียนรู้พันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ขณะที่ “ความรู้” ก็จัดเต็มระดับที่ย่อยหลักสูตรของผู้ใหญ่ ทั้งเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน การอนุรักษ์ทรัพยากร การกำจัดขยะ การเพาะปลูก การแปรรูปอาหาร มาให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำจริงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

ที่แม้บางหัวข้อดูเหมือนไกลตัวอย่าง “อยู่ให้รอดในป่า” แต่สิ่งที่แฝงอยู่คือ การเรียนรู้ที่จะประกอบการอาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่น การรู้จักห่วงโซ่อาหาร ที่มาของอาหารและพลังงาน และยังมีการประกวดทำอาหารด้วยเงิน 300 บาท ที่เด็ก ๆ จะต้องรู้จักวางแผนการจัดซื้อ การทำบัญชี การจัดการขยะและปริมาณคาร์บอน ที่สำคัญคือ รู้จักการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

“และยังมีกิจกรรมที่สามารถต่อยอดสู่อาชีพในอนาคตได้ตามพื้นที่ อาทิ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้มีการอบรมการปลูกกาแฟที่จะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจการสร้างป่า เพราะกาแฟจะอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาต้นไม้ใหญ่ ทำให้เด็กเข้าใจปัญหาของการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เปลี่ยนมาสู่การทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งไม่ใช่แค่สอนปลูก แต่ยังมีการติดตามผล ให้ความรู้ด้านการตลาด การทำบัญชี ครบเพียงพอทำเป็นอาชีพได้ จนสามารถสร้างผลผลิตได้จริง ซึ่งทาง ซี.พี.รับซื้อผลผลิตทั้งหมด แต่ไม่การันตีราคาเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้น ซึ่งเด็ก ๆ ได้เห็นจริงว่า การปลูกกาแฟแบบนี้ 1 ไร่ สร้างรายได้มากกว่าทำเกษตรแบบเดิม 4 ไร่