การค้าเสรี-Me too “หายนะ” ของระบบที่ไร้กรอบ-กติกา

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

 

“วิกิพีเดีย” ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การค้าเสรี” หรือ free trade ไว้ว่า คือ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่หมายถึงการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศโดยไม่มีการเก็บภาษีศุลกากร และการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนข้ามเขตแดนระหว่างประเทศโดยอิสระ

ความหมายโดยรวม ๆ ก็คือ เป็นการวางกรอบ กติกา สำหรับการทำธุรกิจระหว่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี, ค่าธรรมเนียมในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ฯลฯ

แต่โลกธุรกิจของไทยทุกวันนี้นักลงทุนกลับมองกันคนละทาง และฉวยโอกาสสร้างธุรกิจจากคำว่า “การค้าเสรี”

หลายคนมองว่าระบบ “การค้าเสรี” นั้นแม้ว่าจะเสรี แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้ เพื่อไม่ให้สังคมโดยรวม และประเทศชาติเสียหาย

แต่อีกหลายคนคิดและมองว่า ระบบของ “การค้าเสรี” คือ ใครใคร่ค้าค้า หน่วยงานรัฐก็ไม่มีสิทธิจะมาควบคุมด้วย

จากความเชื่อนี้ ทำให้สังคมไทยเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ หรือ me too หมายความว่า เมื่อเห็นคนหนึ่งทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ คนอื่น ๆ ก็มักจะแห่ทำตามกัน เพราะเข้าใจว่าถ้าทำเหมือนกับคนอื่นแล้ว ตัวเองก็จะประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนจึงอยากยกตัวอย่างหลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงที่ผ่านมา โดยดูง่าย ๆ จากในอดีตที่เกษตรกรไทยแห่ทำนา ปลูกข้าว จำนวนมาก เพราะเหตุผลที่ว่าจำนำข้าวได้ราคาที่สูง หรือการที่เกษตรกรแห่ปลูกยางพารา เพราะขายยางพาราได้ราคาสูง

แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์คนจีนแห่ซื้อทุเรียนไทย ทำให้ “ทุเรียน” ราคาพุ่งทะลุกว่าไป 150-200 บาทต่อกิโลกรัม บวกกับราคายางพาราลดลงฮวบฮาบ เหลือกิโลกรัมละ 30-40 บาท เกษตรกรก็แห่โค่นยางพาราทิ้ง แล้วหันมาปลูกทุเรียนแทนกันทั่วประเทศ

และก็เชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ “แจ็ก หม่า” เลิกซื้อทุเรียนไทยไปขายในจีน เกษตรกรไทยคงหันมาโค่นต้นทุเรียนทิ้งแล้วหันไปปลูกผลไม้เศรษฐกิจอย่างอื่นทดแทนอีกแน่นอน

หรือปรากฏการณ์การแห่ลงทุนคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าที่กระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ จนเกินภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” อย่างหนักอยู่ในขณะนี้

ในภาคของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ก็เกิดจากกระแสแห่ลงทุนตาม ๆ กัน หรือ “me too” เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสการแห่ลงทุนโรงแรม ที่พัก โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, พัทยา, สมุย, เชียงใหม่

ว่ากันว่าแค่ภูเก็ตจังหวัดเดียว ณ ขณะนี้มีการลงทุนด้านซัพพลายในธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ พร้อมทั้งคาดการณ์กันว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ภูเก็ตจะมีจำนวนห้องพักใหม่เข้ามาในตลาดอีกไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นห้อง จากปัจจุบันที่ประเมินว่าทั้งจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการไปแล้วอยู่ที่กว่า 1 แสนห้องพัก

เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ, พัทยา ชลบุรี ที่แห่ยื่นขออีไอเอ และขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมใหม่กันเป็นจำนวนมาก

แน่นอนเมื่อมี “ซัพพลาย” ห้องพักเกิดใหม่จำนวนมาก ขณะที่การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้สอดรับกัน ทำให้ตลาดของผู้ประกอบการรายเดิมถูกแย่งไป สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “สงครามราคา” และเจ็บตัวกันถ้วนหน้า

หรือกรณีของวงการรถทัวร์นำเที่ยวที่นายทุนใหญ่แห่เข้ามาลงทุนกันอย่างหนัก โดยประเมินกันว่า หลังจากที่รัฐบาลปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ พร้อมทั้งยึดรถทัวร์นำเที่ยวของบริษัทโอเอไป 2-3 พันคัน มีกลุ่มทุนใหญ่ลงทุนรถใหม่เข้ามาสู่ตลาดอีกไม่ต่ำกว่า 5-6 พันคัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อรูปแบบการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยน ด้วยการหันมาเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น และท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ลดลง บวกกับสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะชะลอตัว ดีมานด์หรือความต้องการใช้รถทัวร์นำเที่ยวขนาดใหญ่ก็ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถทัวร์นำเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนักขนาดที่ว่า หากรัฐบาลไม่อัดยาแรงมาช่วยกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่แรงพอ ปลายปีนี้อาจเห็นรถทัวร์นำเที่ยวเหล่านี้ตกงาน และจอดอยู่นิ่ง ๆ นับหมื่นคันแน่นอน (จากจำนวนรถทั่วประเทศราว 4 หมื่นคัน)

และไม่เพียงแต่จะอยู่ในสภาพจอดนิ่ง ๆ เท่านั้น ยังคาดการณ์ด้วยว่าจะมีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถและเป็นเอ็นพีแอลไม่ต่ำกว่า 5-6 พันคันอีกด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ควรถือเป็น “บทเรียน” ของผู้ประกอบการและทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่าควรปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่อง “การค้าเสรี” ใหม่ได้แล้ว

และควรกำหนดกรอบของระบบ”การค้าเสรี” ให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนลงทุนอย่างเหมาะสม และควรจะเป็น ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เพราะปัญหาที่ทุกภาคส่วนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความ “หายนะ” ของระบบการค้าของไทยที่ “เสรี” แบบไร้กรอบอย่างแท้จริง