แสวงโอกาสบุกตลาดใหม่ FTA “ไทย” กับ “ปากีสถาน-ตุรกี-ศรีลังกา”

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าหลักเริ่มชะลอตัว จึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการค้าของไทยในตลาดโลก ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศตลาดใหม่ที่เล็งเห็นว่าจะมีโอกาสในการเติบโต ซึ่งปากีสถาน ตุรกี และศรีลังกา เป็น 3 ประเทศตลาดใหม่ ที่ไทยได้เปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอด้วย

โดย FTA กับศรีลังกาเป็นการเจรจาแบบกรอบกว้าง ครอบคลุมทั้งการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขณะที่กรณีของปากีสถานและตุรกี เป็นการจัดทำ FTA ในส่วนของการเปิดตลาดการค้าสินค้าก่อน และจะเจรจาเพิ่มเติมส่วนอื่น ๆ ในภายหลัง

การเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ได้เปิดรอบแรกในปี 2558 มีการเจรจามาแล้ว 9 รอบ ส่งผลให้การจัดทำข้อบทที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าใกล้จะหาข้อสรุปได้แล้ว ยังเหลือในส่วนการเจรจาเปิดตลาด ซึ่งปากีสถานมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 10 ช่วงต้นปี 2563 FTA ไทย-ปากีสถาน จะช่วยขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และการส่งออกของไทย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก

ในปี 2561 การค้าระหว่างไทย-ปากีสถานมีมูลค่า 1,686.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.84 โดยปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ ไทยส่งออกไปปากีสถาน 1,480.28 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากปากีสถาน 206.71 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 6 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมมีมูลค่า 875.94 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี เริ่มเจรจารอบแรกในปี 2560 มีประชุมแล้ว 5 ครั้ง โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังอยู่ระหว่างจัดทำข้อบทที่เกี่ยวกับการค้าสินค้า และเจรจาเปิดตลาด คาดว่า FTA ไทย-ตุรกี จะช่วยขยาย GDP และการส่งออกของไทย อาทิ สิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ พืชเส้นใย ขนสัตว์ และไหม

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับตุรกีในปี 2561 มีมูลค่า 1,472.02 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไทยส่งออกไปตุรกีมูลค่า 1,082.22 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 344.80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมมีมูลค่า 704 ล้านเหรียญสหรัฐ

การเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา เริ่มตั้งแต่ปี 2561 มีการประชุมมาแล้ว 2 รอบ โดยศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพการประชุม FTA ครั้งที่ 3 สองประเทศยังต้องหารือจัดทำข้อบทการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตลอดจนเจรจารูปแบบการลดเลิกภาษีสินค้าระหว่างกัน ก่อนแลกเปลี่ยนข้อเสนอเปิดตลาด คาดว่า FTA ไทย-ศรีลังกา จะช่วยขยาย GDP การลงทุนในต่างประเทศ และการส่งออกของไทย อาทิ ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก

ในปี 2561 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 521.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.69 โดยศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 59 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียใต้ ไทยส่งออกไปศรีลังกาเป็นมูลค่า 438.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกาเป็นมูลค่า 83.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 204 ล้านเหรียญสหรัฐ

คาดว่า FTA ทั้ง 3 ฉบับ ที่ไทยจะทำกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา จะเป็นกลไกสำคัญในการขยายและต่อยอดเส้นทางการค้าสินค้า และบริการของไทยสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา อำนวยความสะดวกด้านพิธีการทางศุลกากร แก่ผู้ส่งออกและนำเข้าของไทย รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เอฟทีเอทั้ง 3 ฉบับ ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี และความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ตกขบวน และใช้โอกาสจาก FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ