สหรัฐตัดจีเอสพีไทย-บาทแข็งค่า แนวทางการรับมือความท้าทาย

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ม.รังสิต

ประเมินผลกระทบสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย พบว่า กลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในสัดส่วนที่สูงและจำนวนไม่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือ SMEs เกษตรกรและชาวประมงจะได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากสินค้าที่ถูกตัดจีเอสพีครอบคลุม 573 รายการ ตั้งแต่อาหารทะเลหลากชนิด ผักผลไม้ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักผลไม้ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์เครื่องครัว ไม้อัด ไม้แปรรูป เหล็กแผ่น สเตนเลส ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ จามชาม เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 39,650 ล้านบาท โดยอ้างเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงานของไทยยังไม่ได้มาตรฐานสากล

ซึ่งหากทางการไทยทำงานเชิงรุกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้ควรเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ตาม การประชุมอาเซียนจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ย. ไทยควรยื่นข้อเสนอไปยังผู้แทนรัฐบาลสหรัฐที่มาร่วมประชุม ให้สหรัฐทบทวนการตัดสิทธิดังกล่าว

หากเราใช้มาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายภายใน เป็นไปตามระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ และสอดคล้องบริบทของปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมของไทย ก็ต้องยืนยันหลักการ ไม่หวั่นวิตกต่อแรงกดดันจากการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติ

สำหรับผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดจีเอสพี ซึ่งสินค้าจะมีราคาแพงขึ้นจากการถูกเก็บภาษีตามอัตราปกติ ส่งผลต่อยอดขาย ก็ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิต ขณะที่รัฐบาลต้องเดินหน้าเจรจาการเปิดตลาดและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิจีเอสพีหรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดสิทธิจีเอสพีของอียูช่วงก่อนหน้านี้ก็ดี หรือการตัดสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้จึงกระทบต่อภาคส่งออกไทยพอสมควร เพราะทั้งสหรัฐและอียูเป็นตลาดหลักของไทย และไทยยังไม่มีการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐ จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอได้ ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพีไปญี่ปุ่นลดลง ผู้ส่งออกไทยหันไปใช้สิทธิจากข้อตกลงเอฟทีเอซึ่งได้ประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไปบางประเทศอย่างญี่ปุ่น ไทยได้รับประโยชน์จากหลายระบบ ได้รับประโยชน์จากระบบจีเอสพี ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ได้รับประโยชน์จากข้อตกลง FTA อาเซียนญี่ปุ่น เนื่องจากในการส่งออกแต่ละครั้งใช้สิทธิเดียวหรือเลือกระบบใดระบบหนึ่ง ฉะนั้น ผู้ส่งออกจึงควรเปรียบเทียบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิใดในการส่งออก

ส่วนสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่จะซ้ำเติมภาคส่งออกนั้น ความมีอิสระและความโปร่งใสมีผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมาก ผลการศึกษาของงานหลายชิ้นบ่งชี้ว่า กรณีของไทยนั้นการส่งผ่านนโยบายการเงินจะเกิดขึ้นผ่านช่องทางอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากึ่งหนึ่ง บทบาทของนโยบายการเงินต่อตัวแปรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การส่งออก การนำเข้า ดุลการค้า มีอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงสภาวะการส่งออกให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต้องเปลี่ยนระบบของนโยบายการเงิน ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบายการเงิน แต่ต้องตระหนักว่า เป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน คือ การรักษาเสถียรภาพ นโยบายการเงินต้องไปช่วยรักษาลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนในระยะสั้น

ดังนั้น นอกจากสถานการณ์ของภาคส่งออกในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพีแล้ว อาจถูกซ้ำเติมจากการแข็งค่าของเงินบาทอันเป็นผลจากเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงิน จากสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบการเงินโลก หลังจากธนาคารกลางหลายประเทศยังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ทางการเงินและลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ล่าสุดเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและนโยบายบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและแรงกดดันมากขึ้นจากตลาดการเงินโลก

การใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น เก็งกำไรด้วยการกำหนดระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาท หรือเพดานการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทโดยไม่มีธุรกรรมแท้จริงรองรับ หรือเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราด้วยการทำ open market operation ซื้อดอลลาร์ ขายเงินจะไม่มีประสิทธิผลมากนัก ในสถานการณ์ขณะนี้เพียงช่วยบรรเทาความผันผวนเท่านั้นแนวโน้มค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าแตะระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ได้ จะไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก การจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม มีความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องนำผลการศึกษาเรื่องการนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งมาจัดตั้ง “กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ” ที่เคยทำไว้กลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง