ลึกแต่ไม่ลับของรถอีวี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย อมร พวงงาม

 

งานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “THAILAND 2020 ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

วิทยากรแต่ละท่านขึ้นเวทีไม่ธรรมดาจริง ๆ

ข้อมูลแน่นเอี้ยด ทำการบ้านกันมาอย่างครบถ้วน

โดยเฉพาะแม่ทัพใหญ่ค่าย “ไทยซัมมิท”

“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่บรรยายภาพรวมของอุตฯยานยนต์

ภายใต้หัวข้อ Next Chapter ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

เห็นข้อมูลอีกด้านที่คาดไม่ถึง

สิ่งแรกที่หลายคนตกใจ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังถูกดิสรัปต์

เทคคอมปะนีกระโจนเข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้น

ทันทีที่รถยนต์พัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี), และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

ธุรกิจอื่น ๆ สามารถเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มากขึ้น ทั้งกูเกิล แอปเปิล ฯลฯ

ถึงเวลานั้น ผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งเคยมีความยิ่งใหญ่ควบคุมทั้งตลาดและอุตสาหกรรม จะถูกลดบทบาท

เหลือเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น

พฤติกรรมการใช้รถจะเปลี่ยนไปเยอะมาก

คนจะไม่เลือกซื้อรถยนต์ หรืออยากเป็นเจ้าของรถ

แต่จะเลือกซื้อ mobility ที่แปลว่า การเคลื่อนย้ายที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองในช่วงนั้น ๆ

อุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องเปลี่ยนจาก “การผลิต” มาเป็น “บริการ”

ดัวนั้นธุรกิจจะเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ระบบซัพพลายเชนจะกลายเป็นระบบอีโคซิสเต็ม มีหลากหลายธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ คำถามค้างคาใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า

โอกาสที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราใกล้เข้ามารึยัง

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามส่งเสริม บีโอไอให้สิทธิพิเศษผู้ผลิตมากมาย

แต่เอาเข้าจริง ยังไม่เห็นมีค่ายรถเจ้าไหนลงทุนจริงจัง ที่เห็นตอนนี้ก็มีแค่ไฮบริด กับปลั๊ก-อิน ไฮบริด

แถมตัวเลขขายรถยนต์ไฟฟ้าปีที่แล้ว มีแค่ 325 คันเท่านั้น

ยังเป็นคำถามว่า รัฐบาลส่งเสริมถูกทางรึเปล่า

หลายประเทศส่งเสริมให้เกิดดีมานด์ก่อน ใครซื้อรถอีวี รัฐบาลสนับสนุน ราคาไม่แพง มีลด แลก แจก แถม

พอมีความต้องการใช้ เชื่อว่า มีคนกล้าลงทุน ผู้ผลิตสามารถทำรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายได้

อีกเรื่องที่รัฐบาลต้องปรับตัว รายได้จากภาษีเอามากางดูตอนนี้ 35.9% เป็นรายได้จากการนำเข้าน้ำมัน

อีก 22.8% เป็นรายได้จากรถยนต์นำเข้า 2 ส่วนนี้ปาเข้าไป 60% ของรายได้ทั้งหมด

ดังนั้น ถ้าจะผลักดันเมืองไทยให้มีรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลคงต้องไปหารายได้จากส่วนอื่น ๆ มาเสริม

อีกเรื่องที่หลายคนยังไม่รู้ ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

ก่อให้เกิดมลพิษไม่ต่างจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะเเรก คือ การผลิตเป็นตัวรถ แต่ละโรงงานมีการปล่อยคาร์บอนเเล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนหลักด้วย กระบวนการผลิตแบตเตอรี่สร้างมลพิษหนักหนาเลยทีเดียว

ระยะที่สอง เปรียบเทียบจากพลังงานที่ใช้ ถ้าเป็นน้ำมัน ต้องคำนวณระยะของการขุดน้ำมันจากใต้ดินส่งเข้าโรงกลั่นและขนส่งมายังหน้าปั๊มน้ำมัน

แต่ถ้าเป็นไฟฟ้าก็คือ เอาธรรมชาติมาแปลงเป็นไฟฟ้าผ่านสายส่ง แล้วมาจ่ออยู่ที่หน้าเครื่องใช้ไฟฟ้า

ระยะที่สองนี้ น้ำมันปล่อยคาร์บอนเยอะกว่า

และ ระยะที่สาม การใช้งาน แน่นอนรถยนต์ไฟฟ้าได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้าดูภาพรวมทั้ง 3 ระยะประโยคสวยหรู ที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อ

ว่า “รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อมก็ไม่ได้เป็นความจริงทั้ง 100%”

เพราะจริง ๆ แล้ว แค่ลดค่าคาร์บอน แต่ไม่ได้ทำให้ค่าคาร์บอนเป็นศูนย์