โชยุสร้างสุข

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

 

นั่งอ่านหนังสือ “ธุรกิจสร้างสุข” ที่มี “พิชชารัศมิ์ Marumura” เป็นผู้เขียน ทำให้เห็นมุมมองต่อการแสวงหาความสุขของผู้คน และไม่เฉพาะแต่คนญี่ปุ่น อันเป็นตัวละครสำคัญของหนังสือเล่มนี้

หากยังทำให้เห็นมุมมองของมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบันของไทย ที่ต่างแสวงหาความสุขในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการหาเงิน ทอง ลาภยศ ความสำเร็จ และการยอมรับจากผู้คนต่าง ๆ

จนทำให้รู้สึกว่าพวกเขาเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ?

รู้สึกว่าจะต้องทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร ? ทำไม ?

คำถามที่ต้องการคำตอบเหล่านี้ ไม่แต่เพียง “พิชชารัศมิ์” ต้องการไขปริศนา หากคำถามที่ต้องการคำตอบ
เหล่านี้กลับทำให้ผมฉุกคิดเช่นกันว่า “ความสุข” มันสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจริงหรือ

ปรากฏว่า…สำคัญจริง ๆ

เพียงแต่ความสำคัญดังกล่าวอาจไม่ได้มาในรูปของตัวเงินเพียงอย่างเดียว หากความสำคัญดังกล่าวอาจหมายถึงโอกาสในการแสดงความสามารถ

การยอมรับ

และการสนับสนุนของผู้คนต่าง ๆ ที่คิดว่า เขาน่าจะเป็นเดอะสตาร์ของสังคมหนึ่ง ๆ ได้

“ธุรกิจสร้างสุข” ก็เช่นกัน

แม้ 1 ใน 16 องค์กรของประเทศญี่ปุ่น ที่ “พิชชารัศมิ์” นำมาถ่ายทอดลงในหนังสือเล่มนี้จะไม่ใช่องค์กรใหญ่ ไม่ใช่องค์กรที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีหรือมีพนักงานมากมาย

เพราะเป็นองค์กรเล็ก ๆ มีพนักงานเพียงไม่กี่คน ทั้งยังมีความแตกต่างทางธุรกิจโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตผงวุ้น, ปลูกแอปเปิล, หมักซีอิ๊ว, ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, ทำซอฟต์แวร์, เว็บไซต์, รับจัดงานศพ ฯลฯ

แต่ทุกคนที่ทำงานในสถานที่เหล่านี้ต่างมีความสุขอย่างพร้อมสรรพ

ถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบคือเพราะเขาเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง พร้อม ๆ กับทำให้พนักงานเชื่อมั่นว่า เราจะดูแลคุณตลอดไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

ซึ่งเหมือนกับ บริษัท ยางิซาวะ โชเต็น ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองริคุเซนทาคาตะ จังหวัดอิวาเตะ โดยบริษัทแห่งนี้ทำหน้าที่ผลิตซีอิ๊ว (โชยุ) เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เพราะดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่สมัยเอโดะ หรือกว่า 200 ปีมาแล้ว

แต่เมื่อปี 2011 เกิดเหตุการณ์สึนามิบริษัทถูกคลื่นยักษ์สูง 17 เมตร พัดพาออฟฟิศ และโรงงานเก็บสินค้าลอยไปกับน้ำทะเลจนไม่เหลือซาก ตอนนั้นผู้บริหาร และพนักงานคิดไปในทำนองเดียวกันว่า คงไม่มีทางฟื้นฟูบริษัทให้กลับมาดังเดิมอีกต่อไปแล้ว

แต่ “มิจิฮิโระ โคโนะ” ทายาทรุ่นที่ 9 กลับไม่เชื่อเช่นนั้น เขากลับคิดว่าในขณะที่พนักงานทุกคนตื่นตระหนกไปกับความเลวร้ายของเหตุการณ์สึนามิ จนทำให้พนักงานบางคนเสียชีวิต หรือญาติพี่น้องของพนักงานบางคนสูญหายไปกับสายน้ำ

เขากลับพูดกับพนักงานที่เหลือกว่า 38 คนว่า…บริษัทจะยังคงจ้างทุกคนทำงานต่อไป

ถามว่าทำอย่างไร ?

ก็ในเมื่อไม่มีโรงงานผลิตโชยุแล้ว

“มิจิฮิโระ โคโนะ” ใช้วิธีนี้ครับ…เขาจ้างพนักงานของเขาให้ช่วยเหลือทีมอาสาสมัครในการแจกจ่ายอาหาร และเสื้อผ้าให้กับผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ

เพราะเขาเชื่อว่าคนที่ไม่ทำงานจะยิ่งสูญเสียกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ที่สำคัญ เขาเชื่อว่าบริษัทเราผลิตโชยุมาตั้งแต่สมัยเอโดะ เราเป็นหนี้ลูกค้า ดังนั้น เราต้องพยายามกลับมาดำเนินธุรกิจให้เร็วที่สุด

ความเชื่อดังกล่าวถูกขยายผลทันที

เขาได้รับจดหมายมากมายจากลูกค้าเก่าให้กลับมาผลิตเร็ว ๆ

และหนึ่งในจดหมายเหล่านั้น มีลูกค้าคนหนึ่งสั่งออร์เดอร์ พร้อมกับแนบเงินหนึ่งหมื่นเยนมาให้ โดยมีข้อความเขียนสั้น ๆ บอกว่า…ผมต้องการโชยุเพียงคนเดียว ส่วนเงินที่เหลือให้คุณนำไปสมทบทุนสร้างโรงงานใหม่

“มิจิฮิโระ โคโนะ” ยอมรับว่า เขามีกำลังใจอย่างมาก แต่ที่มีกำลังใจมากกว่า คือ บริษัทอันโดะ บริวเวอรี่ และนิจินัน บริวเวอรี่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตโชยุ และมิโสะ ในจังหวัดอากิตะ ทั้งยังเป็นบริษัทคู่แข่งของเขาโดยตรง กลับว่าจ้างเขาให้ผลิตโชยุตามสูตรยางิซาวะ โชเต็น

จนทำให้หลังเหตุการณ์สึนามิเพียง 1 เดือน “มิจิฮิโระ โคโนะ” สามารถสร้างออฟฟิศขึ้นมาใหม่ได้ ไม่เท่านั้น เขายังให้บริษัทคู่แข่งทั้งสองบริษัทผลิตโชยุให้ด้วย

ก่อนที่ 2 ปีต่อมา เขาจะกลับมาสร้างโรงงานใหม่อีกครั้ง

โดยมีพนักงานทั้งหมด 38 คน เป็นผู้ขับเคลื่อนโรงงาน ที่ไม่เพียงพวกเขาจะทำงานกันอย่างมีความสุข หากพวกเขายังมีสำนึกร่วมกันว่า เขาจะต้องช่วย “มิจิฮิโระ โคโนะ” ขยายออร์เดอร์ไปยังตลาดต่างประเทศด้วย

เขาทำได้จริง ๆ

เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของหลาย ๆ เรื่องที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผมจึงอยากให้ทุกคนลองไปหาซื้ออ่านดู แล้วจะพบคำตอบว่า “ธุรกิจสร้างสุข” ได้จริง ๆ