“ดาต้า” เทรนด์ 2020

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

 

ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของ “ข้อมูล” ท่ามกลางทะเล “ข้อมูล” การจัดเก็บ และเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำคัญมากเช่นกัน

“ข้อมูล” มีอยู่ทุกที่ และใช้วัดผลทุกอย่างได้

ถามว่าในปีหน้า “ข้อมูล” อะไรสำคัญที่สุด

“กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซซ์ จำกัด บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในโซเชียล มองว่า ข้อมูลที่สำคัญสำหรับธุรกิจต่าง ๆ คือ ข้อมูล “ผู้บริโภค” ที่เห็นจากข้อความที่ปรากฏในโซเชียล ด้วยเทคโนโลยี เช่น เอไอ และแมชีนเลิร์นนิ่ง

“ดาต้าเทรนด์” ที่จะมาแน่ปี 2020 มี 5 เรื่อง 1.กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลทำให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเข้มข้นขึ้น สิ่งที่น่าจะเห็นลดลงได้ คือ “โฆษณา” ที่เราไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ข้อมูลจะได้รับการปกป้องมากขึ้น

2.มีแพลตฟอร์มทางเลือกใหม่ (alternative platform) เช่น แอปพลิเคชั่น Tiktok จากข้อมูลในโซเชียลพบว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีคนพูดถึงเพิ่มขึ้นกว่า 150% มีการแชร์ และส่งข้อความมากขึ้นถึง 200% อีกแพลตฟอร์มที่มาแรง คือ Spotify และบรรดา podcast ต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีคนใช้งาน 190 ล้านคน ทั้งแบบใช้ฟรีมีโฆษณา และยอมเสียเงิน คิดเป็นสัดส่วน 50:50

ข้อมูลนี้ทำให้พอจะเห็นเทรนด์การจ่ายเงินเพื่อซื้อ “เนื้อหา” (content) จะมีมากขึ้นด้วยในปีหน้า ผู้บริโภคเริ่มยอมจ่ายเงินให้กับ Spotify, Netflix และ youtube เพื่อแลกกับการไม่ต้องดูโฆษณา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของการนำเสนอ “คอนเทนต์” เพื่อหารายได้จากคนอ่านได้

เทรนด์ที่ 3 คือ ผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ “นักรีวิว” จะมีบทบาทมากขึ้น จากข้อมูลในโซเชียลพบสถิติที่น่าสนใจ คือ ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) ที่มีคนติดตามไม่เยอะ แต่เมื่อ “โพสต์” อะไรไปจะมีคนเอาไปแชร์ต่อ

กับอีกกลุ่มที่มีจำนวนมากที่มีคนติดตามเยอะ แต่เมื่อ “โพสต์” อะไรไป กลับไม่ค่อยมีคนแชร์ หรือซื้อสินค้าตาม เป็นต้น

“อินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลทางความคิดในกลุ่มเครื่องสำอาง มีตั้งแต่คนติดตามเยอะกับคนติดตามไม่เยอะ แต่คนจะมีส่วนร่วม หรือมีการสั่งซื้อตามเยอะ และอื่น ๆ เชื่อว่าปีหน้าจะสนุกกว่าเดิม ทั้งยังพบอีกว่าอินฟลูเอนเซอร์ในหมวดหนึ่งอาจไม่ได้โพสต์ข้อมูลแค่อย่างเดียว เช่น หมวดบิวตี้ อาจโพสต์เรื่องอาหาร”

คนหนึ่งคนอาจไม่ได้อยู่ในสถานะเดียว “อินฟลูเอนเซอร์” ก็เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามี “ข้อมูล” มากพอก็จะสามารถวางแผนได้ดีขึ้น

เทรนด์ที่ 4 เมื่อภูมิทัศน์ของ “สื่อ” เปลี่ยน การวัดผลก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย จะมีสูตรการวัดผลแบบใหม่ที่จะได้รู้ว่าการจัดงานหนึ่งงาน ใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” คุ้มหรือไม่ เป็นต้น

สุดท้าย คือ เป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสร้างบทสนทนาได้ (conversation AI) ยกตัวอย่าง “SIRI” ของแอปเปิล ถือเป็น “AI” ที่มีความเข้าใจภาษามนุษย์ และฉลาดมากพอที่จะฟังเราทั้งประโยคได้

ถามว่ากระทบกับเราได้ไง นี่เป็นครั้งแรกในโลกที่คอมพิวเตอร์จะกลับมาเข้าใจมนุษย์ จากเดิมเป็นคอมพิวเตอร์เป็นแค่ “ปุ่ม” ซึ่ง “ปุ่ม” จะมีปัญหากับคนพิการ และผู้สูงอายุ

“ถ้าคอมพิวเตอร์เข้าใจเราได้มากขึ้นก็จะดีมาก แต่สุดท้ายแล้ว AI จะมาช่วยเราทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะงานง่าย ๆ เช่น เวลาเรากดซื้อของในอีคอมเมิร์ซ เอไอจะรู้ว่าเราจะซื้อซ้ำหรือไม่ หรือในงาน customer engagement เมื่อซื้อไปแล้วไม่กลับมาใช้บริการหรือซื้อซ้ำ AI ก็จะไปตามว่าทำไมไม่มา รวมถึงงานด้าน customer support จะจัดการโดย AI มากขึ้น”

“กล้า” ย้ำว่า “เอไอ” หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมาช่วยทำงานที่ซ้ำซาก และทำให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้ามากขึ้น

“มือถือที่เราใช้งานอยู่ รู้ว่า เราไปไหม มากกว่าตัวเราเสียอีก”

ดังนั้น เรื่อง “ข้อมูล” จึงเป็นสิ่งที่ต้องดูแล