เปิดกลยุทธ์บริหารธุรกิจ-คน สไตล์ “บี.กริม” องค์กร 141 ปี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

ความสำเร็จของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีอายุยาวนานร่วม 141 ปี อย่าง บี.กริม กรุ๊ป บริษัทสัญชาติเยอรมันที่มาปักธงลงทุนไทยเมื่อปี 1878 (2421) ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.หรัณ เลขนะสมิทธ์” หรือที่หลายคนคุ้นชื่อ “ฮาราลด์ ลิงค์” ผู้บริหารชาวเยอรมันหัวใจไทย วัย 65 ปี ซึ่งเป็นทายาทเจเนอเรชั่น 3 ตระกูลลิงค์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารธุรกิจ 50,000 ล้านบาท ให้ฟังว่า

ปัจจุบัน บี.กริม ผันตัวเป็นผู้ผลิตพลังงานเป็นธุรกิจหลักมานาน 30 ปีแล้ว แต่ยังรักษา “ธุรกิจดั้งเดิม” ไว้ทั้งหมด ทั้งธุรกิจการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจแรก ธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ลงหลักปักฐานระบบวิทยุในไทย นำสายโทรศัพท์จากเยอรมนีมาไทยเป็นเส้นแรก สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นกำเนิดถนนวิทยุ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เดินเรือ โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า

ตลอดเวลา 141 ปีที่ผ่านมา “บี.กริม” ผ่านร้อนผ่านหนาวจากการดิสรัปชั่นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ส่งผลให้ “หรัณ” มองกระแสดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเข้าใจ เขากล่าวว่า คำว่า ดิสรัปชั่น (disruption) เป็นคำที่ลบ แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีต่าง ๆ บางครั้งไม่ได้มีเจตนาที่จะมุ่งเป้าทำร้าย แต่เป็นการทำเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมให้มากขึ้น ยกตัวอย่างสมัยแรกที่ บี.กริม นำยาสมัยใหม่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเป็นการรักษาโรคที่ยาสมุนไพรเดิมทำไม่ได้

คีย์เวิร์ดสำคัญความสำเร็จ ไม่เพียงแค่การมีเทคโนโลยีที่ดี และการเป็นมืออาชีพที่ช่วยทำให้มีผลงานออกมาดีเท่านั้น

แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น ที่ “หรัณ” เน้นย้ำกับเราหลายครั้ง คือ “ค่านิยมการธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี มองโลกในแง่ดี” ถ้าคนคิดว่าคุณเป็นมิตรที่ดี มีอะไรเกิดขึ้น เขาจะไปกับเรา ถ้าไปด้วยกันจะเติบโตไปด้วยกัน อยู่ในประเทศไหนต้องทำแบบนั้น

เขายกตัวอย่างว่า การอยู่ในเมืองไทยทำให้มีโอกาสได้เดินหน้าโครงการสำคัญ ๆ หลายอย่างที่ส่งผลดีต่อสังคม อย่างการสนับสนุนบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า และการสนับสนุนกีฬาขี่ม้าโปโล ซึ่งส่วนตัวชื่นชอบเป็นงานอดิเรก

และเมื่อมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่น เขาก็ยึดหลัก “การทำงานเพื่อสังคม คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจ” ทำเสมือนว่าเป็นบริษัทของประเทศนั้น เช่น ในมาเลเซีย เขาร่วมสนับสนุนโครงการช่วยเสือโคร่ง หรือในประเทศแม่อย่างเยอรมนี เขามีบริษัทพอร์ซเลน ร่วมกับราชวงศ์เยอรมัน เพื่ออนุรักษ์เครื่องพอร์ซเลน

นอกจากนี้ เขาแชร์ไอเดียว่า บางประเทศที่เข้าไปลงทุนมีจุดเด่นอย่างธรรมชาติและภูมิประเทศสวยงาม ทำธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ว่าที่ไหน เราสามารถเลือกได้ว่าจะขายท่องเที่ยวให้คนที่ชอบท่องเที่ยวในภูมิประเทศแบบเรา หรือจะสร้างสาธารณูปโภคสิ่งใหม่ให้คนมาเที่ยว

อีกด้านหนึ่งที่ “หรัณ” เน้นย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของความสำเร็จครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เราพยายามทำด้วยความรักกัน

และการมี “คนเก่ง” ในองค์กร เป็นเรื่องสำคัญ

หลังจากเดินทางมาเมืองไทย เพื่อรับไม้ต่อธุรกิจซึ่งเวลานั้นมีพนักงานเพียงแค่ 500 คน ผ่านมาถึงตอนนี้ บี.กริม มีพนักงานเพิ่มขึ้นเกิน 5 เท่า หรือประมาณ 2,700 คน ทั้งผู้บริหารไทย-เทศ หญิง-ชาย หลากเจเนอเรชั่น

นโยบายการบริหารงานบุคคลสไตล์ บี.กริม จะไม่นิยมหลักความเข้มงวด หรือการตอบแทนโดยให้เงินเพียงเท่านั้น แต่หรัณอยากให้พนักงาน บี.กริม กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี

“เรามีคนเจน Y มากที่สุด ซึ่งบางคนมองว่า คนเจน Y เปลี่ยนบริษัทบ่อย แต่ บี.กริม ให้เขาเลือก เช่น เราให้โบนัสพิเศษ 3 เดือน ถ้าคุณมาเป็นพนักงาน และให้ 6 เดือน ถ้าคุณเซ็นว่าจะอยู่อย่างน้อย 4 ปี แต่ผมว่าการจะอยู่ในบริษัทนานหรือสั้นนั้น ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่สูง หรือความเข้มงวด แต่ขึ้นอยู่กับบรรยากาศ และสิ่งที่คุณจะให้เขาทำ ถ้าเขาชอบ เขาจะทำงานตามจุดแข็งของเค้า วัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ ค่านิยม ของตนเองและองค์กรสอดคล้องกัน มีงานท้าทาย มีโอกาสเติบโต รายได้ใช้ได้ น่าจะมีความสุข ก็ไม่อยากเปลี่ยนงาน คนเจน Y บางธุรกิจอาจจะเปลี่ยนบ่อยกว่าธุรกิจนี้”

นอกจากการให้โอกาสบุคลากรแล้ว การบริหารคนสไตล์ “หรัณ” เขาเล่าต่อว่า “พนักงานของเราหนึ่งคนจะมีบทบาทหน้าที่เป็นหลาย ๆ บทบาทพร้อมกัน เป็นทั้งพ่อ เป็นลูก เป็นตา เป็นผู้ร่วมทุนกับองค์กรเล็ก ๆ ผู้บริโภค ผู้ผลิต เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เขาใช้เวลา 8 ชม.ในที่ทำงาน แล้วชั่วโมงที่ 9 หลังจากนั้น เราอยากให้เขาเป็นอย่างไร ถ้าคุณอยู่ในองค์กรที่ช่วยเหลือกัน รักกัน หลังจากนั้น ชั่วโมงที่ 9 เมื่อมีคนเข้ามา เขาขอความช่วยเหลือ เขาก็พร้อมที่จะช่วย ในองค์กรนี้คนเก่งวิชาการก็ไปช่วยคนที่เก่งธุรกิจ คนเก่งธุรกิจก็มาช่วยคนที่เก่งรูทีน แต่ถ้าองค์กรของคุณมีแต่ความสัมพันธ์ที่แย่ ชั่วโมงที่ 9 หลังจากการทำงานก็จะเป็นอีกแบบ”

บทพิสูจน์ความสำเร็จในการบริหารองค์กรไม่ใช่แค่ยอดขายที่เติบโตทะลุ 20% หรือกำไรที่สูงต่อเนื่องช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่วัฒนธรรมองค์กรสะท้อนผ่านพนักงานของ บี.กริม ไล่เรียงไปตั้งแต่พี่คนขับรถไปจนถึงซีอีโอ

หลังสัมภาษณ์มีคนแอบกระซิบว่า แม้แต่เลขาฯคุณลิงค์ที่เกษียณแล้วก็ยังอยากทำงานต่อ ทางบริษัทจึงขยายเวลาให้ทำงานต่อสัปดาห์ละ 4 วัน ฟังแล้วก็ยิ้มตาม “ความสุขในการทำงาน” นี่อาจจะเป็นเคล็ดลับของความยิ่งใหญ่ และยาวนานของ บี.กริม ก็ว่าได้