ประสบการณ์ตรง? ไป รพ.เสี่ยงติด “โควิด-19”

file Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images)

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ ๆ เป็นหวัด “ไอ มีน้ำมูก” จึงซื้อปรอทมาวัดไข้ พบ “ไข้ขึ้นเฉลี่ย 37.2-37.5 องศา” ตรงอาการเบื้องต้น “โควิด-19” ! หลายข้อ

แม้จะไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว

Advertisment

จึงรีบพาตัวเองไปหาหมอทันที !เพราะกลัวติดโรคโควิด-19 เช่นกัน !

หากติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่เราเสี่ยงชีวิตคนเดียว ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด คนแวดล้อมที่ปฏิสัมพันธ์ต่างเสี่ยงอันตรายด้วยกัน ต่อเนื่องไปยังครอบครัวของทุกคน

“การสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม” จึงต้องมาเป็นอันดับแรก !

รีบเรียก TAXI ไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกแถวงามวงศ์วาน ระหว่างเดินทางหยิบปรอทขึ้นมา

Advertisment

วัดไข้อีกครั้งโดยอมไว้ใต้ลิ้น พบไข้ขึ้น 37.2 องศา แต่เมื่อถึงหน้าเคาน์เตอร์พยาบาลใช้เครื่องยิงวัดไข้พบ 36 องศา แสดงว่าไม่มีไข้

พร้อมซักประวัติ ไม่ได้ไปต่างประเทศมา 2 ปีแล้ว แต่มีความเสี่ยงมากมาย เพราะชีวิตประจำวันปกติเดินทางด้วยรถเมล์ รถปรับอากาศ TAXI รถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดิน พบคนหลายเชื้อชาติบนรถไฟฟ้า ทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน ไม่รู้มาจากประเทศเสี่ยงหรือไม่ ?

ก่อนป่วย 2 วัน ได้ยืนคุยกับน้องที่เพิ่งกลับจาก “ญี่ปุ่น” ได้ 5 วัน คุยกันสัก 2 ประโยค ก่อนไปกักตัว 14 วันถึงปัจจุบันน้องคนนี้ร่างกายแข็งแรงดี ไม่ป่วย

พยาบาลแจ้งว่าที่นี่ไม่ได้ตรวจโควิด-19 รักษาไข้หวัดธรรมดา ได้ลางานอยู่บ้าน แยกตัวเองอยู่ในห้องแยกชาม ช้อน แก้วน้ำ กินยาแก้ไข้ แก้แพ้อากาศ ลดน้ำมูก แก้ไอ วันรุ่งขึ้นน้ำมูก ไอ ดีขี้น แต่ไข้ยังสูงถึง 37.5 องศา

อีกใจคิดว่าปรอทจะเกิดความผิดพลาดหรือไม่ จึงให้ซื้อปรอทอีกยี่ห้อมาวัดเปรียบเทียบกันก็ได้ค่าเท่าเดิม

อีกวันจึงพาตัวเองไปโรงพยาบาลย่านสะพานควายที่รับตรวจโควิด-19 ระหว่างทางวัดปรอทโดยอมไว้ใต้ลิ้นได้ 37.2 องศา โรงพยาบาลมีการตั้งโต๊ะคัดกรอง วัดไข้ด้วยการยิงทางหู ตั้งแต่หน้าประตู วัดได้ 36.6 องศา บอกไม่มีไข้

ถูกซักประวัติโดยให้นั่งต่อจากผู้หญิงที่เพิ่งกลับจากญี่ปุ่น ซึ่งมีอาการหวัด ไอ แม้มีแมสก์ปิด พยาบาลเพียงให้ล้างมือด้วยเจล หลังจากนั้นมีเด็กผู้ชายอาการต้องสงสัยรอตรวจ ก็เดินวนเวียนกันอยู่บริเวณที่นั่งไม่ห่างกันนัก

หลังบอกข้อมูลพยาบาล บอก”ไม่เสี่ยง ไม่เข้าข่าย” และให้พบหมอด้านอายุรกรรม และให้หมอพิจารณาว่าควรตรวจโควิด-19 หรือไม่

หมอฟังการหายใจจากปอด ให้เจาะเลือดและคว้านเสมหะในคอไปตรวจ ผล lab ออกมา หมอฟันธงว่า เป็น “ไข้หวัดธรรมดา” URI ไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่เป็นไข้เลือดออก ไม่เป็นโควิด-19 ! และให้ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ และยาฆ่าเชื้อมากิน

จึงขอลานั่งทำงานที่บ้าน ไม่อยากไปแพร่เชื้อ และรับเชื้อเพิ่มด้วยร่างกายที่อ่อนแอ

ผ่านไป 3 วัน ไข้ขึ้น ด้วยความวิตกจริตจึงพาตัวเองไปโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งย่านฝั่งธนบุรี มีการตรวจคัดกรองโดยแยกห้องตรวจมาด้านนอกอาคาร และยิงวัดไข้ได้ 36 องศา ไม่พบมีไข้ แต่ก่อนไปอมปรอทใต้ลิ้นวัดได้ 37.4 องศา

พยาบาลซักประวัติพร้อมบอกขอนำข้อมูลทั้งหมดสอบถามกับ “กรมควบคุมโรค” ก่อนหายไปสักพักกลับมาแจ้งว่า “กรมควบคุมโรคบอก ไม่เข้าข่ายโควิด-19” ! แต่ต้องนั่งรอตรวจอีกยาวนาน

ที่สำคัญระหว่างนั่งรอต้องนั่งข้าง ๆ คนป่วยที่ล้วนเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยผู้ชายคนหนึ่งเพิ่งไปทัวร์เกาหลี อีกคนเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น อีกคนทำงานเป็นกราวนด์ที่สนามบิน ล้วนต้องสงสัยโควิด-19 จึงถูกคัดกรองเบื้องต้นมารวมกัน

ประสบการณ์ตรงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองที่เห็นชัด คือ เรื่องความแม่นยำของเครื่องวัดอุณหภูมิด้วยการยิงระบบดิจิทัล กับการวัดปรอทด้วยการอมไว้ใต้ลิ้นให้ค่าที่คลาดเคลื่อนกันพอสมควร ระหว่างการมีไข้และไม่มีไข้ ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า เครื่องวัดอุณหภูมิที่ใช้การเดินผ่านที่สนามบินต่าง ๆ จะให้ความแม่นยำได้เพียงใด

ที่สำคัญความวิตกจริตเรื่องโควิด-19 มากเกินไป อาจพาตัวเองออกไป “เสี่ยง” ติดโรคจากผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศได้เช่นกัน เพราะแต่ละโรงพยาบาลไม่มี “สถานที่”แยกการคัดกรอง การตรวจรักษาที่ดีพอ บางแห่งบุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และขาดเครื่องมือในการรับมือ

หากเกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้นมา น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง