Air Co. จากโรงกลั่นวอดก้า สู่โรงงานผลิตเจลล้างมือสู้โควิด

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

ยามวิกฤตเราได้เห็นทั้งคนที่ฉวยโอกาสทำมาหากินบนความเดือดร้อนของคนอื่นกับคนที่ทุ่มสรรพกำลังช่วยเหลือสังคม ถึงคนประเภทหลังจะมีน้อยนิดเทียบไม่ติดฝุ่นกับคนจำพวกแรก แต่อย่างน้อยเรื่องราวดี ๆ ที่พวกเขาทำก็พอช่วยให้ใจชื้นว่า “โลกนี้ก็ยังไม่โหดร้ายเกินไป”

อย่าง Air Co. บริษัทผลิตวอดก้าในนิวยอร์กที่จะพูดถึงในวันนี้ เป็นบริษัทเล็ก ๆ เพิ่งเปิดตัวไม่นาน แต่ใจใหญ่ขนาดยอมสละโอกาสทำรายได้ด้วยการทุ่มกำลังการผลิตทั้งหมดมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเพื่อบริจาคให้ผู้ขาดแคลน โดยเจลทุกขวดที่ผลิตได้จะบริจาคให้เทศบาลเมืองนำไปแจกจ่ายต่อไป

ตอนนี้บริษัทผลิตเจลล้างมือได้อาทิตย์ละ 1,000 ขวด และกำลังเร่งการผลิตเพื่อแจกให้พนักงานดีลิเวอรี่ที่วิ่งรอกส่งข้าวส่งน้ำไปทั่วเมือง โดยเฉพาะพนักงานที่มาจากร้านอาหารเล็ก ๆ ที่ไม่มีปัญญาตบตีแย่งชิงหาซื้อเจลล้างมือมาได้

“เกรกอรี่ คอนสแตนทีน” ผู้ก่อตั้งAir Co. บอกว่า เวลานี้ใครช่วยอะไรได้ก็ต้องช่วย ๆ กัน ส่วนบริษัทจะมีกำลังผลิตเจลล้างมือบริจาคอย่างนี้ต่อไปนานแค่ไหน เขาบอกว่าจะพยายามยืนระยะต่อไปให้ “นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ถึงจะเป็นสตาร์ตอัพน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว Air Co. ก็ถือว่ามีชื่อเสียงพอสมควรจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดวอดก้าที่ “บริสุทธิ์ที่สุด” ในโลก

“วอดก้า” ของที่นี่นอกจากจะไร้สารตกค้างแล้ว กระบวนการผลิตทั้งหมดยังไม่ก่อมลพิษ แถมยังช่วย “ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)” และ “เติมออกซิเจน” ให้กับชั้นบรรยากาศอีกด้วย

Air Co. ใช้กระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าออกเป็นออกซิเจนกับไฮโดรเจน ตัวออกซิเจนจะถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนไฮโดรเจนจะนำมาผสมกับ CO2 ที่ดักจับจากอากาศนอกโรงงานเพื่อให้เกิดเป็นแอลกอฮอล์กับน้ำ ซึ่งหลังผ่านการกลั่นจะได้วอดก้าบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งตกค้างออกมา

เครื่องจักรกลตลอดจนกระบวนการผลิตทั้งหมดใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เรียกได้เต็มปากว่า วอดก้าของ Air Co. เป็น “carbon negative vodka” ที่แท้จริง เพราะทุกขั้นตอนไม่มี CO2 หลุดออกมาแม้แต่น้อย แถมมีผลพลอยได้เป็นออกซิเจนที่ปล่อยออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นใจอีก

เมื่อเทียบกับการผลิตวอดก้าทั่วไปที่ปล่อยสารเรือนกระจก 13 ปอนด์/ขวด วอดก้าของ Air Co. ช่วยลดปริมาณ CO2 ได้ 1 ปอนด์ ต่อการผลิต 1 ขวด เพราะ “วัตถุดิบ” หลักของ Air Co. ไม่ใช่ “ยีสต์” แต่เป็น “CO2” การผลิตวอดก้าของ Air Co. 1 ขวด จึงช่วยลด CO2 ได้เท่ากับการดูดซับ CO2 ของต้นไม้ 8 ต้น

เกรกอรี่เปรียบกระบวนการผลิตของตนว่าคล้ายการสังเคราะห์แสงของพืชตามธรรมชาติที่เปลี่ยน CO2 ให้เป็นพลังงานและได้ผลพลอยได้เป็นออกซิเจนนั่นเอง

กระบวนการผลิตของ Air Co. นี้ได้รับรางวัลจาก NASA และ XPrize (องค์กรจัดการประกวดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ) จึงมั่นใจได้ว่าบริษัทไม่ได้โม้ตอนที่บอกว่าสามารถผลิตวอดก้าจาก “อากาศ น้ำ และแสงแดด” ได้จริง ๆ

Air Co. เปิดตัวครั้งแรกในร้านของมิชลินอย่าง Eleven Madison Park และ Gramercy Tavern นอกจากนี้ยังวางขายในร้านขายเหล้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ บริษัทมีแผนจะเปิดโรงกลั่นในเมืองอื่น ๆ ด้วย โดยนำความได้เปรียบจากการที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโรงกลั่นทั่วไป (Air Co. ใช้พื้นที่แค่ 500-1,000 ตร.ม. ในขณะที่โรงกลั่นทั่วไปต้องใช้พื้นที่หลายสนามฟุตบอล) ทำให้สามารถหาที่ในเมืองสร้างโรงกลั่นได้ไม่ยาก

ความจริงนอกจากสตาร์ตอัพรายเล็กอย่าง Air Co. แล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายในต่างประเทศที่ลงขันกันช่วยสังคมในขณะนี้ เบสิกสุด ๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและมือถือที่ให้ลูกค้าใช้งานแบบไม่จำกัด และสามารถจ่ายค่าบริการช้าได้ เนื่องจากนโยบาย work from home และการกักตัว 14 วัน ที่ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญมาก…เขียนไปก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เห็นอะไรแบบนี้ในสังคมไทยมั้ย แต่ที่แน่ ๆ คือ วันหน้าฟ้าใหม่เมื่อโควิดถูกกำจัดจนสิ้นซากแล้ว จะกดสั่งวอดก้าของ Air Co. มาจิบเล่นคลายเครียดให้จงได้