จงเลือกทำในสิ่งที่รัก

ภาพ : paxabay

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ร้อน ๆ อย่างนี้ทำให้ผมนึกถึงสมัยเด็ก ตอนไปเที่ยวบ้านป้าที่จังหวัดเพชรบุรี

ป้ามีอาชีพขายของชำ ส่วนลุงมีอาชีพทำนา ทำสวน

ภายในสวนนอกจากจะมีกระท้อนห่อ, มะม่วงแก้ว, มะม่วงสามฤดู ยังมีกล้วย, พริก, มะเขือ, กะเพรา, โหระพา รวมถึงชะอม และตำลึงที่ชูใบเขียวขึ้นข้างรั้วอีกมากมาย

ผมเองไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งเหล่านี้เลย นอกจากตระเวนเที่ยวกับลูกของป้า และเพื่อน ๆ ข้างบ้าน เพื่อไปหาน้ำตาลสดกินจากต้นตาลบ้าง ไปหา

กะละแมกินแถวโรงน้ำตาลที่ชาวบ้านเขาทำน้ำตาลโตนดกัน

หรือไม่เย็น ๆ ค่ำ ๆ ก็แต่งตัวหล่อขี่จักรยานกับหนุ่ม ๆ แถวบ้าน และลูกชายของป้า เพื่อไปเที่ยวงานวัด ดูหนังกลางแปลง และดูสาว ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน

เนื่องจากเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นช่วงฌาปนกิจศพของชาวบ้านแถบละแวกนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงฌาปนกิจศพกันในช่วงเดือนเมษายน เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพราะช่วงนี้ลูก ๆ หลาน ๆ ปิดเทอม ลาพักร้อนกลับบ้านหรือไม่เขาก็รอเผาศพกันในช่วงนี้

เพราะชาวบ้านสมัยก่อนมักจะเก็บศพไว้ 100 วัน หรือมากกว่านั้น เพื่อรอให้ลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศกลับมาบ้านอย่างพร้อมเพรียง เพื่อจะได้ทำการฌาปนกิจศพไปในคราวเดียวกัน เสมือนอยู่กันครบหน้าครบตา

อีกอย่างเพื่อจะได้อัพเดตด้วยว่าลูกหลานคนไหนไปทำอะไร แต่งงานหรือยัง ทำงานอยู่ที่ไหน เผื่อมีอะไรจะได้ช่วยเหลือกันภายในหมู่ญาติมิตร

ผลเช่นนี้ จึงทำให้งานศพในต่างจังหวัดค่อนข้างยิ่งใหญ่ มีทั้งปี่พาทย์ ฆ้องวง หนังกลางแปลง ลิเก ลำตัด หรือบางงานถึงกับจ้างนักร้องนักดนตรีลูกทุ่งมาแสดงกันเลยก็มี

เมื่อมีความบันเทิงเกิดขึ้นยามค่ำคืนภายในวัด ผู้คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จึงมาเที่ยวกันมากมาย

จนทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าของแต่ละชุมชนเกิดขึ้นโดยบังเอิญ

หนึ่งในพ่อค้าแม่ค้าชุมชนเหล่านั้น ลูกสาวป้าของผมคนหนึ่งที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็เอามะม่วงแก้วแช่น้ำขัณฑสกร รสชาติหวานกรอบ พร้อมพริกกะเกลือ และกระท้อนแช่อิ่มออกมาขายด้วย สินค้าของเธอขายหมดทุกวัน ได้กำไรหลายร้อยบาทในแต่ละคืน

จนทำให้ผมอดชื่นชมเธอไม่ได้ และไม่ใช่ว่าเธอเพิ่งจะทำ แต่เธอทำอย่างนี้ทุกปิดเทอม

เพื่อหาเงินมาแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ทั้งยังนำเงินเหล่านี้ไปซื้อหนังสือและชุดนักเรียน

เนื่องจากป้าของผมมีลูกหลายคน เธอจึงอยากช่วยเหลือพ่อแม่ แม้กระทั่งเธอไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแถวสามย่าน เธอก็ยังทำอยู่เช่นนี้

จนใครจะเชื่อละว่าหลังจากที่เธอสอบชิงทุนปริญญาโทเพื่อเรียนหนังสือที่ออสเตรเลีย เธอยังหางานพิเศษทำเป็นฝ่ายบริกรของร้านอาหารไทย และโรงแรมต่าง ๆ กระทั่งเธอเรียนจบปริญญาโท และแต่งงานกับชาวฝรั่งเศสที่เรียนหนังสือด้วยกัน

หลังจากแต่งงานเธอตามสามีไปทำงานที่ฝรั่งเศสอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาดูแลครอบครัวอย่างจริงจัง และระหว่างนี้เธอเริ่มสนใจธุรกิจเปิดร้านอาหารไทย เพราะเมืองลียงที่เธออยู่ไม่มีร้านอาหารไทย

เธอเริ่มต้นจากเช่าร้านเล็ก ๆ เพื่อเปิดเป็นร้านอาหาร มีลูกน้องเพียงไม่กี่คน แต่เมื่อขายดีขึ้น เธอจึงเริ่มขยายกิจการ จนสามารถเปิดร้านเป็นของตัวเอง ทำอยู่ไม่กี่ปีเธอเปิดสาขา 2 บนทำเลที่ต่างกัน

เนื่องจากระยะหลัง ๆ ชาวฝรั่งเศส และชาวต่างชาติเริ่มนิยมชมชอบอาหารไทย และหนึ่งในเมนูของหวาน และผลไม้ที่เธอนำมาแนะนำให้ลูกค้าทาน ต้องมีมะม่วงแก้วจิ้มพริกกะเกลือ และกระท้อนแช่อิ่มด้วย โดยเฉพาะกระท้อนแช่อิ่มกลายเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้านเลยทีเดียว

ผมมาทราบตอนหลังว่า ร้านอาหารของเธอประสบความสำเร็จเกินคาดร้านขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าที่นิยมชมชอบอาหารไทย แต่เมื่อวันหนึ่งสามีของเธอต้องไปรับผิดชอบในตำแหน่งที่สูงขึ้นในโซนเอเชีย ล่าสุดมาประจำการประเทศไทย เธอจึงขายร้านอาหารไทยทั้ง 2 ร้านเพื่อมาอยู่เมืองไทยกับสามี พร้อมกับลูกผู้หญิงอีก 3 คน เพราะเธอคิดว่าธุรกิจที่ทำจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ตาม หากไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัวก็ไม่มีประโยชน์

เงินหาเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าขยัน

แต่ความสุขของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะถ้าครอบครัวอบอุ่น มีความสุข พลังในการทำงานจะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ

อีกอย่างเธอมีความคิดที่อยากจะกลับมาอยู่เมืองไทย อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเธอด้วย

เหตุผลที่ผมอยากเล่าเรื่องนี้ให้ฟังไม่มีอะไรมาก อาจเป็นเพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม และเพิ่งผ่านพ้นเทศกาลมหาสงกรานต์ และวันครอบครัวไม่นานผ่านมา ผมจึงอยากนำเรื่องดี ๆ มาบอกเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าวันหนึ่งใครที่ทำธุรกิจแล้วท้อแท้ สิ้นหวัง ลองหันหลังกลับมามองที่ครอบครัว แล้วคุณจะมีกำลังใจ

คงเหมือนกับญาติผมคนนี้ ที่ชอบการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก ๆ และไม่ว่าเธอจะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร เธอจะฝึกหัด ฝึกขาย ฝึกทดลองทำอยู่ตลอด จนที่สุดเธอก็ได้เป็นเจ้าของธุรกิจสมดั่งที่เธอชอบและรัก

ซึ่งไม่ได้เกิดจากโชคใด ๆ ทั้งปวง

แต่เกิดจากสิ่งที่เธอสร้างขึ้นเองตั้งแต่วัยเยาว์ทั้งสิ้น จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานที่ผมชอบเล่าให้ใครต่อใครฟัง

หวังว่าทุกคนคงชอบนะครับ