การผ่อนคลายระยะ 4

Photo by Mladen ANTONOV/AFP
คอลัมน์สามัญสำนึก
ถวัลศักดิ์ สมรรคะบุตร

เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากในประเทศ “เกินกว่า” 17 วันไปแล้ว หากจะนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยินยอมให้มีการคลายล็อกระยะที่ 1 มาจนกระทั่งถึงการคลายล็อกระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนปรากฏรายงานผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มาจากตรวจพบเชื้อภายใน “สถานที่กักกันของรัฐ” หลังจากที่รัฐบาลไทยมีนโยบายให้คนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องรับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (state quarantine) เป็นเวลา 14 วันแทบทั้งสิ้น

โดยการติดเชื้อภายในประเทศครั้งสุดท้ายดูเหมือนจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคมที่มีรายงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศอีกเลย นับจนถึงวันนี้พบว่าประเทศไทย “ปลอดจากการติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลา 18 วันติดต่อกัน”

นับเป็น 18 วันที่มีความหมายในการตัดสินใจของ ศบค.ที่จะให้เปิดการดำเนินกิจกรรม/กิจการแทบจะทั้งหมดในการผ่อนคลายระยะที่ 4 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ โดยกิจกรรม/กิจการที่ ศบค.ประกาศปลดล็อก อาทิ ยินยอมให้มีการจำหน่ายสุราได้ในโรงแรม/ร้านอาหาร/สวนอาหาร/ศูนย์อาหาร แต่ยัง “ยกเว้น” สถานบันเทิง-ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-โรงเบียร์-อาบอบนวด อนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ตหรือการแสดงดนตรีได้ แต่ต้องจัดระยะห่าง 5 ตารางเมตร/คน หรืออนุญาตให้เปิดใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนนานาชาติ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนกวดวิชาและโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กไม่เกิน 120 คน สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ

และที่น่ายินดีอีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะประกาศ “ยกเลิก” เคอร์ฟิวในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ แต่ยังควบคุมการเดินทางเข้าประเทศทั้งทางบก-ทางน้ำ-ทางอากาศอยู่ เนื่องจากเห็นแล้วว่า ในช่วง 18 วันที่ผ่านมา การติดเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นจากคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการระบาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย สหรัฐ อังกฤษ และตะวันออกกลาง โดยเปอร์เซ็นต์การตรวจพบเชื้อในสถานที่กักกันของรัฐ ร้อยละ 15 จะพบในระยะ 0-2 วัน หลังจากเดินทางเข้าประเทศ และร้อยละ 8.3 จะพบภายใน 11 วันไปแล้ว ดังนั้นการกักตัว 14 วันจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะป้องกันไม่ให้มีการรับเชื้อจากนอกประเทศให้กลับมาระบาดเป็นรอบที่ 2 อีก

หากถามว่า ประเทศไทยจะเปิดเสรีในการใช้ชีวิต-การทำธุรกิจ-การประกอบกิจกรรมต่าง ๆ-การเปิดการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นแหล่งรายได้หลักในกลุ่มประเภทบริการ ให้กลับไปเหมือนก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตามข้อเรียกร้องของผู้นำองค์กรภาคธุรกิจหลาย ๆแห่ง ประกอบกับความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่

ในประเด็นนี้หากติดตามสถานการณ์ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทั่วโลกก็จะพบว่า ยังหนักหนาสาหัสอยู่ เฉพาะตัวเลขการติดเชื้อวันเดียว (12 มิถุนายน) พบถึง 144,178 คน แน่นอนว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กระจายอยู่ในหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา (ติดเชื้อสะสม 2,089,701 คน), บราซิล (805,649 คน) รวมไปถึง ในเอเชียอย่างอินเดียติดเชื้อถึง 298,283 คน รวมทั้งโลก ณ วันที่ 12 มิถุนายนมีรายงานการติดเชื้อถึง 7,596,987 คน ตาย 423,844 คน แม้จะมีรายงานการติดเชื้อในระยะแรกอย่างอิตาลี-เยอรมนี-สเปน จะลดลงก็ตาม

แต่ความเสี่ยงในประเทศเหล่านี้ที่จะเกิดการระบาดรอบ 2 นับว่า “ยังมีอยู่สูง” โดยล่าสุดสหรัฐที่ประกาศมาตรการผ่อนคลายทั้ง ๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ก็พบการรายงานการระบาดระยะที่ 2 ขึ้นเป็นบางรัฐในหลายพื้นที่เข้ามาแล้ว หากพิจารณาสถานการณ์ระบาดดี ๆ ก็จะพบภาพที่ว่า ประเทศไทยแม้จะยอมให้เปิดการผ่อนคลายระยะที่ 4 แต่รอบข้างประเทศไทยยังมีรายงานการระบาดของโควิด-19 อยู่ มากบ้างน้อยบ้างเป็นรายประเทศ

ดังนั้นการคงมาตรการบังคับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หน้ากาก การรักษาระยะห่าง จึงเป็นความจำเป็นอันดับแรกตราบเท่าที่โลกนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาที่มีประสิทธิภาพมาใช้จัดการกับไวรัสโควิด-19