รีสตาร์ต เศรษฐกิจการเมืองอย่ากวนน้ำขุ่น

สภาผู้แทนราษฎร-ส.ส.

บทบรรณาธิการ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดภายในประเทศที่ผ่านพ้นจุดวิกฤตมาร่วม 2 เดือนคลี่คลายลงชัดเจน หลังทยอยปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 ให้กิจการ สถานประกอบการที่เสี่ยงน้อยกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ

ล่าสุด วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการในเฟสที่ 4 ต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันถ้าหากบรรยากาศทางการเมืองเอื้อ จะยิ่งทำให้ธุรกิจ เศรษฐกิจที่รีสตาร์ตได้แรงหนุน

แม้การยกเลิกข้อห้ามออกนอกเคหสถาน การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ ผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิต จะผ่อนคลายในลักษณะจำกัดอย่างมีเงื่อนไข ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ใช้ระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ

ป้องกันไม่ให้เชื้อโควิดกลับมาระบาดรอบสองซ้ำ หลังปลดล็อกด้วยเหตุผลความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่อาจปล่อยให้กิจกรรมต่าง ๆ สะดุดหยุดนิ่งเป็นเวลานาน เพราะจะนำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินมูลค่า ไม่รวมการสูญเสียเวลาและโอกาส

Advertisment

แม้มีอีกหลายกิจกรรมยังถูกปิดล็อก ไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ต้องรอการผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไป แต่ช่วยให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปสะดวกคล่องตัวมากขึ้น ไม่แปลกที่ทุกภาคส่วนจะขานรับและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไข

ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระบบที่ก่อนหน้านี้ สะดุดกลับมาเคลื่อนไหว อาจยังไม่เต็มร้อย แต่ช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมค่อย ๆ กระเตื้อง ที่น่าห่วงคือบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นไปตรงกันข้าม ฉุดความเชื่อมั่นดิ่งลงสวนทางความต้องการและความคาดหวังของคนทั้งประเทศ ที่อยากเห็นเศรษฐกิจฟื้น ธุรกิจอุตสาหกรรม การลงทุน ส่งออก ท่องเที่ยวเดินหน้า

เพราะภาพสะท้อนแวดวงการเมืองไทยยังไม่ก้าวข้ามวัฏจักรวังวนขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจ ทั้งที่ชาติบ้านเมืองอยู่ในวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในพรรคแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาล

ผลที่ตามมาแทนที่ ส.ส. รัฐมนตรี จะสามารถทุ่มเทเวลา แรงกาย ช่วยแก้ปัญหาประเทศได้เต็มที่ ก็ต้องสาละวนกับการแก้เกมการเมือง บริหารความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ก๊วน

Advertisment

นักการเมือง พรรคการเมือง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน จึงต้องขบคิดทบทวนว่า ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่สมกับที่ขันอาสามาทำงาน และได้รับความไว้วางใจมากน้อยแค่ไหน ก่อนประชาชนในฐานะผู้เลือกตั้ง เจ้าของคะแนนเสียงจะเบื่อหน่าย เสื่อมศรัทธายิ่งกว่านี้