‘อียู’ เปิดพรมแดน ชู 18 ชาติปลอดภัยโควิด

FILE PHOTO: REUTERS/Manuel Silvestri/File Photo
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ มีความหมายต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศใน สหภาพยุโรป (อียู) สูงมากทำให้ไม่น่าแปลกใจที่อียู คือ ผู้ริเริ่มการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร่างซาลง

อียูประกาศเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป แม้จะยังจำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศที่เห็นได้ชัดเจนว่า มีความปลอดภัยจากการระบาดในระดับสูงเท่านั้นก็ตาม

แต่ก็ถือเป็นการจุดชนวนให้กับการเดินทาง การท่องเที่ยวระหว่างประเทศอีกครั้ง

กลายเป็นคุณูปการเหลือหลายสำหรับการท่องเที่ยวและธุรกิจแวดล้อมใหญ่น้อยทั้งหลาย ตั้งแต่กิจการสายการบิน เรื่อยไปจนถึงแผงลอยขายของที่ระลึก

ตามข้อมูลของบีบีซี การตัดสินใจครั้งนี้ยากลำบากไม่น้อย เพราะแต่ละประเทศก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองมีความกังวลเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะสอดคล้องกับประเทศที่เหลือส่วนใหญ่ในอียู ทำให้การเปิด-ไม่เปิดพรมแดนกลายเป็นความเห็นแย้งกันอยู่พักใหญ่

บางประเทศเห็นว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศที่ “ยังไม่ควรให้การต้อนรับ” เช่น สหรัฐอเมริกา หรือรัสเซีย เพราะยังมีการแพร่ระบาดอยู่สูงมาก ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก จากที่เคยแย่ ๆ อยู่แล้วก่อนหน้านี้

บางประเทศอย่างเช่น ฝรั่งเศส เห็นว่าควรต้อนรับเฉพาะประเทศที่ให้การต้อนรับประชาชนของอียูเท่านั้น เข้าทำนองยื่นหมูยื่นแมว หรือในทำนองเดียวกันกับการจับคู่ท่องเที่ยวที่กำลังพูดถึงกันมากในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ ประเทศส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจเปิดประเทศ ด้วยเหตุผลในทางด้านเศรษฐกิจอย่างที่ว่า แล้วก็ด้วยเหตุผลของการเฉลิมฉลอง ความตกลงว่าด้วยการใช้วีซ่าร่วมในอียู ที่เรียกกันว่า “เชงเก้นวีซา” ซึ่งครบรอบ 25 ปีพอดี เมื่อ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกัน ผลการ “ทดลอง” การท่องเที่ยวยุคโควิดใหม่ ได้ผลดีไม่น้อย โดยอียูเปิดให้นักเดินทางท่องเที่ยวเดินทางไปมาหาสู่กันได้ภายในชาติอียูด้วยกันเองมาตั้งแต่ 15 มิ.ย. แม้จะเป็นไปภายในสภาพเข้มงวดแบบใหม่อย่างมากก็ตาม

สเปนเองประสบความสำเร็จในการเปิดให้นักท่องเที่ยวเยอรมัน 10,000 คนเดินทางไปยังหมู่เกาะบาเลียริกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของตนในรูปแบบ “ไวรัสทัวริสม์” ที่เข้มงวดไม่น้อยก่อนที่จะเปิดพรมแดนกว้างขวางมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้

หลักการของอียูที่ใช้เพื่อการฟื้นฟูการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่สิ่งซึ่งอียูเรียกว่า “เซฟลิสต์” ซึ่งเป็นรายชื่อของประเทศที่ปลอดภัย ซึ่งอียูพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากชาติเหล่านี้

ตามรายงานของนิวยอร์ก ไทมส์เซฟลิสต์ บัญชีแรกสุด ประกอบด้วยประเทศกลุ่มเล็ก ๆ เพียงแค่ 18 ประเทศเท่านั้น

ไทย เป็นหนึ่งใน “เซฟลิสต์” ดังกล่าวที่เหลือคือ แอลจีเรีย, ออสเตรเลีย, แคนาดา, จอร์เจีย, ญี่ปุ่น, มอนเตเนโกร,โมร็อกโก, นิวซีแลนด์, รวันดา, เซอร์เบีย, เกาหลีใต้, ตูนิเซีย, อุรุกวัย, อันดอรา, ซานมารีโน, โมนาโกและนครรัฐวาติกัน

รายชื่อประเทศที่ปลอดภัยนี้จะมีการ “อัพเดต” กันทุก ๆ 2 สัปดาห์ อาจมีเพิ่มหรืออาจมีปรับลดเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงดังกล่าว

ดังนั้น อียูจึงมี “ลิสต์ที่ 2” สำหรับเตรียมปรับขึ้น-ลง ตามการแพร่ระบาด หรือด้วยเหตุและผลอื่นที่อียูเห็นว่าชอบธรรม

ที่น่าสังเกตก็คือ ในรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยนี้ ไม่มีประเทศอย่างจีนและเวียดนาม

ทั้งจีนและเวียดนาม จัดอยู่ในลิสต์ที่ 2 นี้ ข้อแม้ก็คือ ทั้ง 2 ประเทศต้องเปิดรับคนจากอียู พร้อม ๆ กับที่อียูเปิดรับคนของประเทศเหล่านี้เท่านั้นเอง

ไม่ว่า “เซฟลิสต์” ที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอีก 2 สัปดาห์ต่อไป ก็ต้องถือเป็นการริเริ่มที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นจุดเริ่มให้หลาย ๆ ประเทศยึดเป็นหลักปฏิบัติต่อไปได้นั่นเอง