เศรษฐกิจผ่านจุดเลวร้ายแล้ว Q2 ตกต่ำสุดแต่จะฟื้นตัวได้ช้า

คอลัมน์ช่วยกันคิด ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เป็นที่คาดการณ์ว่าผลกระทบของเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คือ ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดำเนินมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปกว่า 2 เดือน


ประเทศจีน ซึ่งเผชิญกับการแพร่ระบาดรุนแรงและปิดเมืองตั้งแต่ปลายมกราคม ทำให้ผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในไตรมาส 1 ที่จีดีพีหดตัว 6.8% (จากที่ขยายตัว 6% ในปีก่อนหน้า) โดยภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ ภาคอุตสาหกรรม เพราะต้องปิดโรงงาน

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจบริการ ค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบจากการที่ประขาชนถูกจำกัดการเดินทางออกนอกบ้าน

อย่างไรก็ตาม จีนมีการฟื้นตัวได้เร็ว โดยเศรษฐกิจสามารถกลับมาขยายตัวได้ 3.2% ในไตรมาส 2 จากการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขณะที่ด้านกำลังซื้อในประเทศนั้นฟื้นตัวช้ากว่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในสินค้าคงทน เช่น รถยนต์

สำหรับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจนมีผู้ติดเชื้อเพียงหลักร้อย ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น โดยในไตรมาส 2 เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัว 0.4% (ชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 3.8%) โดยภาคบริการได้รับผลกระทบมากสุดแต่ก็หดตัวเพียง 1.8%

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้างยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากไตรมาส 1 นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีการฟื้นตัวได้ดี เห็นได้จากการขยายตัวของยอดขายปลีกในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน

ประเทศไทยนั้นถือว่าควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 3,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 50 วัน แต่กลับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากประเทศหนึ่ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะหดตัวไม่ต่ำกว่า 10% (จะประกาศในเดือนสิงหาคม) เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวน่าจะสูญเสียรายได้กว่า 3-4 แสนล้านบาท จากการปิดประเทศ ขณะที่ธุรกิจบริการส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการปิดเมือง

แรงงานจำนวนมากต้องว่างงาน กระทบต่อกำลังซื้อ ภาคอุตสาหกรรมก็ปรับลดกำลังการผลิตโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมรถยนต์ ลดกำลังการผลิตลงกว่า 70-80% เนื่องจากปัญหาในเรื่องขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้า และปริมาณยอดขายที่ลดลงทั่วโลก

แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามลำดับนับแต่เดือนพฤษภาคม แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นไปได้ช้า และคาดว่าเศรษฐกิจก็จะยังหดตัวต่อเนื่องในระดับ 10% ในช่วงครึ่งหลัง โดยประเด็นที่น่าเป็นกังวล คือ การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ช้า หลังจากเริ่มเปิดเมืองประชาชนเริ่มเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มขึ้นจาก 2-3% ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม มาอยู่ที่ 13.5% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งยังต่ำกว่าเดือนมิถุนายนปี 2019 ที่ระดับปกติที่ 60-70%

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่จะไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศมีสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยน่าจะทำให้กำลังซื้อลดลงด้วย

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์รายได้การท่องเที่ยวในประเทศครึ่งหลังของปีไว้เพียง 200,000 ล้านบาท (ลดลงกว่า 50% จากปี 2019) และหากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ธุรกิจท่องเที่ยวจะสูญรายได้อีกกว่า 1 ล้านล้านบาทในช่วง 6 เดือนหลังของปี

ธุรกิจขาดสภาพคล่อง มาตรการการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลมีข้อจำกัด ปัจจุบันมีปล่อยได้เพียง 1 แสนล้าน จากวงเงิน 5 แสนล้าน ทำให้ยังมีธุรกิจจำนวนมากที่ขาดสภาพคล่อง และหากพิจารณาจากจำนวนธุรกิจที่เข้าโครงการขอพักชำระหนี้พบว่ามีประมาณ 1 ล้านราย รวมวงเงินกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกตินับจากเดือนตุลาคม หรือต้องไปเจรจากับธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนธนาคารก็มีภาระเพิ่มจากแนวโน้มหนี้เสียที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า ธุรกิจที่จะมีปัญหาสภาพคล่องจะมีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรายเล็ก ๆ อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถกู้จากธนาคารพาณิชย์ จะยิ่งประสบปัญหา ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะหากธุรกิจปิดตัว ปัญหาที่ตามมา คือ การว่างงานจำนวนมาก ในบางประเทศรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจโดยตรง เช่น ช่วยจ่ายค่าจ้าง 3 ใน 4 เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเอกชนหดตัวต่อเนื่อง แนวโน้มกำลังซื้อที่ลดลง

ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ทำให้กำลังการผลิตเหลือ โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้กำลังการผลิตเพียง 50% ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่จะปิดตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เป็นต้น ดังนั้น แม้ไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะตกต่ำสุดแล้ว แต่การจะขึ้นจากก้นเหวน่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย