จาก “ลดดอกเบี้ย” ถึง “กำกับแบงก์” ราหูแทรกแบงก์ชาติ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย oilday

เป็นการเพิ่งรู้ตื่นของ “แบงก์ชาติ” จริง ๆ หรือ? เกี่ยวกับกรณีที่ขุนคลัง ซึ่งอดีตเคยเป็นนายแบงก์มาก่อนด้วย ได้ออกมาไล่จี้ให้เข้าไปทำหน้าที่การตรวจสอบแบงก์พาณิชย์ที่แนะนำช่องทางกลุ่มลูกค้า “คนรวยเลี่ยงจ่ายภาษี” จากดอกเบี้ยรับฝากเงินที่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นข่าวฮือฮาออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สบโอกาสเปิดงานสัปดาห์ประกันภัย และพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจรประจำปี 2560 ได้พูดถึงเรื่อง “ธรรมาภิบาล” โดยเริ่มจากฝากฝังให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่เป็นผู้กำกับธุรกิจประกันชีวิต ให้ความสำคัญในการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (CG) ที่ดี และโยงไปถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมีปัญหาในระดับของผู้ปฏิบัติงาน โดยยกเคสที่เกิดขึ้นว่า มีแบงก์บางแห่งอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย “ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” คือ พนักงานแบงก์หาประโยชน์จากการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% สำหรับคนฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี

         อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์                   ดร.วิรไท สันติประภพ

ซึ่งเรื่องนี้ “ฉาว” ขึ้นมาถึงฝั่งกระทรวงการคลังได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหนึ่ง ไปบอกอธิบดีให้มา “ปิดบัญชี” แล้วค่อยมาเปิดบัญชีใหม่ เพื่อประหยัดการเสียภาษี

ขุนคลังได้ตบท้ายไปถึงวังบางขุนพรหมว่า แนวทางแก้ปัญหาคือ กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ดำเนินลักษณะดังกล่าว ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะทำตามได้แค่ไหน ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ก็ต้องเข้ามาดูแลต้องมากำชับ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ควบคุมผู้กำกับ “อาจจะยังไม่รู้” แต่บังเอิญกระทรวงการคลังรู้ขึ้นมาก่อน ซึ่งมีหลายแบงก์ที่ทำแบบนี้

มีดบินมาปักเต็ม ๆ ฝั่งวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและกำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งระบบของประเทศไทย ซึ่งปกติจะมีการเข้าตรวจสอบสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) เป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว “รณดล นุ่มนนท์” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ออกมารับสภาพว่า ธปท.ได้ประสานกระทรวงการคลังและกำลังดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมนี้อยู่ว่าทำเป็นการทั่วไป หรือเฉพาะสาขา หรือเฉพาะพนักงานบางคน ที่ต้องการดูแลลูกค้ารายใหญ่เป็นพิเศษ และจะประสานกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบว่ายังมีแบงก์ไหนทำอีกหรือไม่

ราวกับราหูเข้าแทรก “แบงก์ชาติ” เพราะช่วงก่อนหน้านี้ก็มีกระแสขัดแย้งกับฝั่งคลัง ที่ออกมากดดันให้ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” นำโดย “สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง และขุนคลัง เพราะหวังอาศัยเครื่องมือ “นโยบายการเงินผ่อนคลาย” ของแบงก์ชาติ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หลังจากที่ผ่านมา ใช้นโยบายการคลังไปหมดแล้ว พร้อมกับขยี้ ธปท. ปม “ค่าเงินบาทแข็งค่า” นำประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้นปี-กลาง ก.ย. ก็แข็งค่าขึ้นไปเกือบ 8% ได้ บวกกับค่าความผันผวนสูงกว่า 2% อีก หากลดดอกเบี้ยจะช่วยลดกระแสเงินร้อนต่างชาติที่เฮโลเก็งกำไรในไทยด้วย

ลำดับเเหตุการณ์ 2 เรื่องนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 27 ก.ย. 2560 โดยมีผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.วิรไท สันติประภพ” เป็นประธาน กนง. ซึ่งผลประชุมที่ออกมา ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ “คงดอกเบี้ย 1.5%” ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจและเอื้อให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายกรอบล่างในกลางปีหน้า ส่วนประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ขณะที่ล่าสุด ค่าเงินบาท “อ่อนตัว” ลงมาปิดตลาดที่ 33.39/40 บาท/ดอลลาร์ จากก่อนหน้าที่แข็งขึ้นไป 33 บาทต้น ๆ จนเสียวจะแข็งค่าหลุดลงมาอยู่ 32 บาทปลาย ๆ ได้ โชคดีที่มีประธานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณว่า จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแน่ในปีนี้ ทำให้ต่างชาติทยอยขายกำเงินสดไว้ก่อน

ช่วงนี้ลมพายุ “การเมือง” ที่ซัดใส่แบงก์ชาติ ดูเหมือนจะเคลื่อนผ่านไปแล้ว แต่คลื่นใต้น้ำเป็นเช่นไร ก็ยากจะคาด เหมือนกับอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย