สขค.ช่วยเกษตรกร สกัด “ล้ง” กดราคารับซื้อ

ล้ง รับซื้อผลไม้
คอลัมน์ แตกประเด็น
สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า

ก่อนอื่นอยากทำความเข้าใจให้ทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะยังมีหลายท่านเข้าใจผิดว่า สขค.อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เหมือนในอดีต

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขยายความให้ชัดเจนคือ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้ามุ่งดูแลให้ความเป็นธรรมทางการค้าเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแต่ไม่ครบถ้วน โดยข้อเท็จจริงยังครอบคลุมไปถึงเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตของตนเองเพื่อการค้าอีกด้วย

เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวกรณีเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) อยู่เป็นประจำ ซึ่งส่วนราชการที่รับผิดชอบต่างเข้าไปดำเนินการแก้ไปปัญหาตามขอบเขตอำนาจที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่

เมื่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดปัจจุบันเข้ามาทำงานตั้งแต่มกราคม 2562 เป็นต้นมา ก็ยังได้รับทราบปัญหา และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวตลอดมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจึงได้มีนโยบายในการคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้โดยใช้มาตรการป้องปราม

และสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจ การรับซื้อผลไม้ ซึ่งได้จัดทำเป็นร่างแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแล้ว

สาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางในการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วย 2 ส่วน

ส่วนแรก เป็นเรื่องของพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า

ได้แก่ 1.การกำหนดเงื่อนไขอย่างไม่เป็นธรรม หรือละเว้นการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม

เช่น การไม่ระบุวัน หรือช่วงเวลาในการเข้าเก็บผลไม้ และการไม่ระบุวันสิ้นสุดของสัญญา ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลไม้ให้ผู้รับซื้อผลไม้รายอื่นได้ การกำหนดไม่ให้เกษตรกรมีสิทธิริบเงินมัดจำ หรือไม่ระบุกรอบเวลาที่แน่นอนให้เกษตรกรมีสิทธิริบเงินมัดจำกรณีผู้รับซื้อผลไม้ผิดนัดไม่เข้ามาเก็บผลไม้ตามที่ตกลงในสัญญา เป็นต้น

2.การกำหนด หรือปรับลดราคารับซื้อ หรือกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ภายหลังการทำสัญญา ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม

เช่น การปรับลดราคารับซื้อผลไม้ให้แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การกำหนดระดับคุณภาพ (เกรด) ของผลไม้ หรือเงื่อนไขอื่นใดอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะที่เก็บผลไม้ หรือภายหลังเข้าเก็บผลไม้ และการกำหนดเงื่อนไขอื่น หรือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการรับซื้อ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งส่งผลให้ราคารับซื้อลดลง เป็นต้น

3.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การชะลอการเข้าเก็บผลไม้ให้แตกต่างจากเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การเก็บผลไม้ไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ในสัญญา และพฤติกรรมในลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร เป็นต้น

ส่วนที่สอง เป็นเรื่องของการตกลงร่วมกัน หรือการฮั้วกันของผู้รับซื้อผลไม้ในตลาดเดียวกัน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ได้แก่

1.การร่วมกันกำหนดราคาซื้อ หรือเงื่อนไขทางการค้าใด ๆ ที่ส่งผลต่อราคาผลไม้

2.การร่วมกันจํากัดปริมาณของสินค้าที่ผู้รับซื้อผลไม้แต่ละรายจะซื้อตามที่ตกลงกัน

3.การร่วมกันกำหนดแบ่งท้องที่ หรือกำหนดเกษตรกรที่ผู้รับซื้อผลไม้แต่ละรายจะซื้อ อันเป็นการจำกัดทางเลือกในการขายของเกษตรกรคาดว่าแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้(ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

เชื่อว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวจะสามารถสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าให้เป็นไปตามหลักการประกอบธุรกิจที่เสรีและเป็นธรรม ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรและผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) ได้ในระดับหนึ่ง

จะเห็นว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่เพียงแต่จะมุ่งดูแลให้ความเป็นธรรมทางการค้าเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเกษตรกรอีกด้วย

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้เลยว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภาคส่วนใดก็ตาม หากไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้าสามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โทร.0-2199-5400 หรือเว็บไซต์ www.otcc.or.th