แตกต่างเพื่อต่อยอด

คนทำงาน
ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
สาโรจน์ มณีรัตน์

ทุกวันนี้เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ หรือข่าวจากผู้นำธุรกิจหลายคนมักจะพบคำพูดหนึ่งอยู่เสมอ ๆ คือ ต้องทำให้แตกต่าง เพราะความแตกต่างจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเรา ยิ่งเฉพาะในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จึงทำให้ผมคิดว่าถ้าอาณาจักรธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน หรือแสนล้านของเหล่าบรรดาซีอีโอทั้งหลายคิดจะขยายธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ คำพูดของเขาก็น่าสนใจ เพราะแบรนด์เขาเป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนแล้ว

ดังนั้น การจะนำแบรนด์ไปเพิ่มมูลค่าในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการทำกลยุทธ์การตลาด และประชาสัมพันธ์เชิงรุก จึงเชื่อแน่ว่าสินค้าภายใต้แบรนด์เหล่านั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จทางธุรกิจค่อนข้างสูง

แต่สำหรับพ่อค้า แม่ขายตามท้องถนน หรือในภาคธุรกิจ SMEs ล่ะ การคิดที่แตกต่างจะใช้ได้สัมฤทธิผลจริง ๆ หรือ…ตรงนี้ผมก็ไม่แน่ใจ

เพราะเท่าที่มองเห็นตามท้องถนน หรือตามแหล่งขายของในเมือง หรือชานเมืองจะพบว่าสิ่งที่พ่อค้าแม่ขายเหล่านั้นขายของในที่ต่าง ๆ มักจะซ้ำไปซ้ำมากับแหล่งอื่น ๆ ที่หาซื้อได้ไม่ยาก ถ้าอยากได้อะไรแค่รอเสาร์-อาทิตย์ไปจตุจักรทุกอย่างก็จบ

ทุกอย่างมีเสร็จสรรพ

แถมยังซื้อไปขายที่อื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่นได้อีกด้วย

เพราะคนที่เขาเอาของมาส่งสถานที่เหล่านี้ เขาใช้กระบวนการคิดที่แตกต่างเหมือนกัน แต่เมื่อสินค้าทุกอย่างมารวมในสถานที่เดียวกัน การคิดที่แตกต่างกลับกลายเป็นก๊อบปี้ตาม ๆ กันไป ที่สุดสินค้าเหล่านี้จึงไม่มีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด กลายเป็นสินค้าโหล หรือแบกะดิน

แต่บางคนกลับที่คิดแตกต่างด้วยการนำสินค้าจากแหล่งดังกล่าวไปขายผ่านออนไลน์ หรือในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และไลน์ แถมยังใช้การพรีเซนเตชั่นในรูปแบบ 3 มิติ 4 มิติ ด้วย ทั้งยังกำหนดราคาสินค้าเฉพาะ กำหนดการซื้อขายภายในกี่วัน จะลดให้ทันที 10-20%

ที่สำคัญ ยังมีการออกแบบเว็บเพจเป็นภาษาอังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น เพื่อจับตลาดลูกค้าต่างประเทศ มีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต พร้อมกับระบุว่าสินค้าจะถึงมือลูกค้าภายในกี่วัน จนทำให้ลูกค้าสนใจสั่งสินค้าคับคั่ง

ตรงนี้เป็นการคิดที่แตกต่างที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาแฝงตัวทำการค้าด้วย

“วิลเลียม แฮร์ริสัน จูเนียร์” อดีตประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอกลุ่มบริษัทเจพีมอร์แกนเชส แห่งสหรัฐอเมริกา เคยบอกว่า…การคิดที่แตกต่างต้องเริ่มตั้งแต่การคิดอะไรที่ต้องกล้าเสี่ยง, ทำงานหนัก และต้องมีทัศนคติที่ดี ที่สำคัญจะต้องมีความเป็นผู้นำ เพราะผู้นำจะทำให้เกิดผู้ปฏิบัติตามที่ดี

พร้อมกันนั้น “วิลเลียม แฮร์ริสัน จูเนียร์” ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า…เราคิดคำขวัญให้เจพีมอร์แกนเมื่อราว 10 ปีก่อนว่าจงเป็นผู้นำ เราอยากให้ทุกคนเป็นผู้นำ ผู้รู้บางคนบางคนบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นผู้นำได้

“แต่ความเห็นของผม ทุกคนเป็นได้ การจะเป็นผู้นำได้ ต้องมีทัศนะ ต้องพร้อมจะนำเสนอทัศนะนั้นอย่างสร้างสรรค์ และใช้มันทำให้อะไรบางอย่างดีขึ้น ตามคำจำกัดความนี้ ทุกคนเป็นผู้นำได้คนทำงานระดับล่างสุดในบริษัทก็ต้องทำอย่างนั้น ผมขอยืนยันว่า กระทั่งผู้นำประเทศก็ต้องทำสิ่งเหล่านั้นให้ดี เขาต้องมีทัศนะการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ และต้องทำให้คนเชื่อตามเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น”

“ฉะนั้น คำแนะนำของผมสำหรับคนหนุ่ม-สาว คือ ต้องมีทัศนะ และต้องทำให้โลกนี้ดีขึ้น เอาตัวให้รอดในเกม ใส่ใจมัน และยอมเสี่ยงระหว่างทางบ้าง เพราะการเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่อย่าเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น ควรกล้าเสี่ยงเพื่อพัฒนา และพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ”

ถึงจะทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จ

หลายคนอาจแย้งว่า…คำพูดเหล่านี้ใช้ได้จริงหรือ ?

หรือวัฒนธรรมแบบฝรั่งจะนำมาปรับใช้กับวัฒนธรรมแบบไทย ๆ ได้ล่ะหรือ ?

คำตอบง่าย ๆ คือ…ทำได้

เพราะทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดจากวิธีคิดที่เป็นระบบมาก่อนทั้งสิ้น จากนั้นถึงค่อยแยกย่อยออกมาเป็นส่วน ๆ ซึ่งแต่ละส่วนถ้าเราพยายามมองอย่างเข้าใจ ให้รู้จักอย่างถ่องแท้ เราจะรู้เลยว่าลูกค้าคือใคร เมื่อรู้ลูกค้าแล้ว สินค้าที่จะป้อนกลับให้ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นอาหาร การกิน, เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง หรือแม้แต่อะไรต่าง ๆ จะต้องคิดเพื่อบริการลูกค้าเหล่านั้น

เพียงแต่ราคา และคุณภาพของสินค้าต้องดี มีความเป็นธรรม

และต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกอร่อย ใส่แล้วเท่ ใช้แล้วสวย ถึงจะทำให้สินค้าของเราขายดี และจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจในที่สุด

ยิ่งถ้ามาบวกกับคำพูดของคนจีนโบราณที่บอกว่า…ขยัน, อดทน, ซื่อสัตย์ด้วย ก็ยิ่งจะทำให้สินค้าของเราเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าตลอดไป

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ ?