ไม่แสดงตัวยกมือขึ้น

คอลัมน์สามัญสำนึก
พิเชษฐ์ ณ นคร

บิ๊กธุรกิจหลากหลายสาขา พากันแสดงน้ำใจ ขานรับนโยบายการลดระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้า หรือ credit term คึกคัก แม้จะแค่ขอความร่วมมือ โดยที่ภาครัฐยังไม่ได้ตั้งกฎ กติกา ในลักษณะเป็นมาตรการบังคับ หรือมาตรการจูงใจ ถือเป็นมิติใหม่ในวงการธุรกิจยุคไวรัสโควิด-19

ขานชื่อให้สังคมรับรู้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย มีแต่จะชื่นชม อาทิ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์, ซินเน็ค (ประเทศไทย), สหพัฒนพิบูล, ไทยเบฟเวอเรจ, เครือ ซี.พี., ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์, อมตะ, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บี.กริม, ปูนซิเมนต์ไทย, ซีพี ออลล์, สยามแม็คโคร, บางจากคอร์ปอเรชั่น, ไทยซัมมิท ฮาร์เนส, บางกอกคริสตัล ฯลฯ ตกหล่นไปบ้างต้องขออภัย ณ ที่นี้ แต่ฟ้ามีตา ขอคอนเฟิร์ม

ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งในการแก้ปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบธุรกิจรายกลางรายเล็ก หรือ SMEs ต้องก้มหน้ารับไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการโดนคู่ค้าที่อำนาจต่อรองเหนือกว่าเอารัดเอาเปรียบ เศรษฐกิจดีพอไหว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน credit term ที่ยาวนานถึง 60-120 วัน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดสภาพคล่อง เพราะนอกจากยอดขาย รายได้จะลดลง เงินที่พอจะมีเข้ามาหมุนยังโดนยื้อ จ่ายช้า สวนทางภาระหนี้สิน ดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้น

แนวคิดการกำหนดเกณฑ์มาตรการระยะเวลา credit term มาจากข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนถูกนำมาสานต่อ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาหาแนวทางการกำหนดเกณฑ์มาตรการ credit term และผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบศ.

ขณะเดียวกันได้ให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดทำแบบสำรวจผู้ประกอบการ SMEs และหารือแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ สขค. พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดต่อคณะกรรมการหอการค้าไทย และคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ สศช.แต่งตั้งขึ้น ปรากฏว่าทุกหน่วยงานเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องเร่งแก้โจทย์ credit term โดยเร็ว

เดือน ก.ย. 2563 ที่ประชุม ศบศ.เห็นชอบข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน credit term ตามผลการศึกษาที่เสนอให้ลูกหนี้การค้าต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30-45 วัน โดยให้กำหนดกติกาประกาศใช้บังคับ และให้มีบทลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้จะมีมาตรการจูงใจควบคู่กันด้วย

ในส่วนของการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา credit term มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กับกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันกำหนด ส่วนระยะเวลา credit term ให้ยึดตามผลการศึกษาของอนุกรรมการที่ 30-45 วัน ตามความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจ

ขณะเดียวกันให้ศึกษาและกำหนดเงื่อนไข กลไกอื่นด้วย คือ 1.การกำหนดบทลงโทษ และกรณียกเว้น 2.การสร้างกลไกการตรวจสอบ ติดตาม เพิ่มช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคธุรกิจ 3.ช่วงเปลี่ยนผ่านจะกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมรับ credit term เกณฑ์ใหม่

และเพื่อให้มาตรการทั้งหมดนี้เป็นจริง ศบศ.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ร่วมกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูล credit term โดยเฉลี่ย และให้นำไปใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการประเมิน socially responsible investing ด้วย

ควบคู่กับสร้างแรงจูงใจ โดยกำหนดแนวทางส่งเสริมจูงใจธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ลดระยะเวลา credit term ในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้า เช่น ให้กรมบัญชีกลางจัดสรรโควตาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้สถาบันการเงินกำหนดสิทธิพิเศษทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ เป็นต้น

คงอีกระยะกว่ามาตรการบังคับ และจูงใจเป็นทางการจะประกาศใช้ แต่ใครพร้อมเป็นพี่ใหญ่ใจดี ทำได้ตั้งแต่วันนี้ ใครยังไม่แสดงตัว…ระวังตกขบวน