โควิด-วัคซีน ใครเร็วกว่ากัน

Photo AFP
สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

หลังจากที่หลายประเทศได้ทยอยประกาศขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 เป็นการฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่นับวันทวีความรุนแรงขึ้น โดยล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมสูงถึง 93,533,849 คน กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็นสหรัฐ อินเดีย บราซิล รัสเซีย และอังกฤษ

ในขณะที่ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 128 (11,456 ราย) จากกรณีการติดเชื้อในวงกว้างของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่สมุทรสาครจากการระบาดครั้งใหม่ในวันที่ 17 ธ.ค.มาจนถึงปัจจุบันเพียง 29 วัน มีการติดเชื้อภายในประเทศสะสมรวมกันแล้วกว่า 7,000 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อภายในหมู่แรงงานต่างด้าวกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดที่ “มหาชัย” ไม่ต่ำกว่า 3,300 คนทีเดียว และยังมีแนวโน้มว่า แรงงานกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 400,000-500,000 คน จะพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก (ตรวจเชิงรุกไป 30,000 คน)

การติดเชื้อรอบใหม่ของไทยในช่วงต้นปี 2564 ทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นจากที่เคยเชื่อว่า “เราควบคุมโควิดได้” กำลังจะกลายเป็น “ควบคุมไม่ได้” ถ้าสังเกตจะพบว่า ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ไทยมีการติดเชื้อภายในประเทศ (หักตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวออกไปแล้ว) เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 100 คน กระจายอยู่ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ และหากยังควบคุมการระบาดไม่ได้ โดยปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปอย่างนี้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์มีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่สะสมจะทะลุ 10,000 รายขึ้นไป

ดูเหมือนว่า รัฐบาลเริ่มที่จะ “ยอมรับ” ว่า เป็นการยากที่จะดึงตัวเลขการติดเชื้อให้เป็น 0 เหมือนกับก่อนหน้าวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เนื่องจากการ “ปฏิเสธ” ที่จะใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” แบบเบ็ดเสร็จเข้มข้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เลือกที่จะใช้มาตรการเข้มข้นเป็นรายพื้นที่แทน

แน่นอนว่า การใช้มาตรการเป็นรายพื้นที่ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อหมดไป ประกอบกับยังมีกลุ่มก้อนแรงงานต่างด้าวนับแสนคนที่มหาชัย รอการตรวจเชิงรุกอยู่ ดังนั้นความหวังเดียวที่รัฐบาล “จำเป็น” ต้องเร่งดำเนินการรับมือกับตัวเลขผู้ติดเชื้อก็คือ “วัคซีน” โดยตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนภายในปี 2564 ให้ได้ถึง 33 ล้านคน

คำถามก็คือวัคซีนเหล่านี้จะมาจากไหน ด้านหนึ่งตามข้อตกลงเดิมที่ทำไว้กับบริษัท AstraZeneca จะได้รับวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดสหรือคิดเป็นร้อยละ 20 ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และมีความพยายามที่จะเจรจาสั่งซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส รวมเป็นทั้งหมด 61 ล้านโดส

ทว่าวัคซีนของ AstraZeneca อย่างเร็วที่สุดจะมาถึงในเดือนมิถุนายนหรืออีกเกือบ 5 เดือน ในขณะที่ตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้รัฐบาลต้องมองหา “วัคซีน” ของบริษัทอื่นเข้ามาอุดช่องว่างหรืออย่างน้อยก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องรับมือกับการระบาด

กลายมาเป็นเหตุผลสำคัญที่เปิดทางให้กระทรวงสาธารณสุข เจรจากับบริษัท Sinovac Biotech ผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีนเพื่อขอ “รัดคิว” จัดหาวัคซีนแบบเร่งด่วนจำนวน 2 ล้านโดสหรือร้อยละ 10 (ฉีดได้ 1 ล้านคน) เข้ามาให้ได้ภายในไตรมาส 1/2564 เพื่อระดมฉีดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน รวมทั้งการจัดหาวัคซีนจากโครงการ COVAX Facility ของ WHO ร้อยละ 20 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของวัคซีนที่กำลังแย่งกันซื้ออยู่ในตอนนี้ “มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น” เมื่อเกิดมี “ข้อสงสัย” ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนจากจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนของ Sinovac Biotech จากการทดลองระยะ 3 ในบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลูกค้ารายแรก ๆ ของบริษัทจีนรายนี้ ปรากฏเปอร์เซ็นต์การป้องกันการติดเชื้อแตกต่างกันไปตั้งแต่ 50% ไปจนกระทั่งถึง 91%

ส่งผลให้ลูกค้ารายใหม่ที่ต้องการวัคซีนเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์-มาเลเซีย ระงับการสั่งซื้อและขอข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงไทยเองที่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินให้กับวัคซีนของ Sinovac กระทบแผนการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ไปโดยปริยาย