ม็อบแห่งการเปลี่ยนแปลง

ม็อบแห่งการเปลี่ยนแปลง
คอลัมน์ สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

6 เดือนของการก่อเกิดและก้าวหน้าของม็อบนักศึกษา ภายใต้แบรนด์ “คณะราษฎร”

สะสมทั้งชัยชนะ และบทเรียน รวมทั้งคดีของแกนนำ และแกนตาม ไว้ไม่น้อย

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้เฝ้ามองสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนี้อย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ไว้ทั้งในบทความส่วนตัวและบนเวทีเสวนา “BREAKTHROUGH THAILAND 2021” จัดโดยเครือมติชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยยืนยันถึง ม็อบและการเปลี่ยนแปลง” ที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงอย่างหนีไม่พ้น และประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่เผด็จการทหารไทยยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร”

อาจารย์นิธิประเมินว่า ตำราเกี่ยวกับการควบคุมบังคับคนไทยที่เคยมีมาตั้งแต่สร้างกองทัพจนถึงบัดนี้ ผมว่าพ้นสมัยไปในพริบตา ไม่คิดว่าจะสามารถทำอย่างนั้นต่อไปได้อีก”

ประกอบกับเป้าหมายและเข็มมุ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกใหม่นี้ ต่างไปจากปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในอดีตด้วยหลายเหตุ-ผล

ทั้งความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เมื่อครั้งอภิวัฒน์ใน 2475, การรัฐประหาร 2490, และการรัฐประหาร 2500

ผ่านกระบวนการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญกว่า 1 ทศวรรษ ล่วงเข้าสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ม็อบขับไล่ “3 ทรราช” ที่คาบเกี่ยวกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นนำ

ต้นทุนชัยชนะของมวลชนถูกนำไปสู่การปักธงเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคน และถูกตอบโต้ด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา 6 ตุลา 2519

16 ปีหลังจากนั้น เกิด ม็อบมือถือ” ชนชั้นกลางลงสู่ท้องถนน เคลื่อนไหว ไม่ต้องการให้หัวหน้าคณะรัฐประหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์พฤษภา 2535

อาจารย์นิธิแตะการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน หรือ คณะราษฎร” ว่า “เป็นการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่แค่ให้เปลี่ยนรัฐบาล”

ไม่ใช่แค่เป็นไปตามข้อเรียกร้องข้อหนึ่ง ที่ระบุว่า “ประยุทธ์ ออกไป”

แต่อาจารย์นิธิชี้ว่า ประยุทธ์เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องเปลี่ยน แต่เขาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงมากกว่านั้น ไม่ว่าสังคม ศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ฉะนั้น ในแง่นี้เป็นความพยายามให้เปลี่ยนแปลงแบบไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ สังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าคนจำนวนขนาดนี้ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและถึงรากถึงโคน คุณจะหวังให้สังคมไทยกลับไปเหมือนเดิมอีก เป็นไปไม่ได้แล้ว”

การยื้อข้อเสนอของม็อบออกไปทั้ง 3 ข้อ โดยไม่ปรับตัวของชนชั้นนำยิ่งนาน-จะยิ่งเสี่ยงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง-นองเลือด

ถ้าใครหวังว่าการปราบปรามแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ อย่างรุนแรง ตั้งข้อหาร้อยแปดพันประการ แล้วจะทำให้เขาหยุดได้ ผมคิดว่าไม่หยุด”

ก่อนหน้านี้ บทความของอาจารย์นิธิเคยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังจะมาถึงข้างหน้า จะเกิดขึ้นท่ามกลางการล่มสลายของสถาบันหลัก ๆ เหล่านั้น ผมเกรงว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สูญเสียอย่างมากอย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน และที่น่าเศร้าสลดยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้สูญเสียมากถึงเพียงนั้นแล้ว กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเดินต่อไป ไม่ว่าบนหนทางอะไร ก็ต้องใช้เวลานานมาก อาจเกินหนึ่งชั่วอายุคนด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ของเราที่หายใจอยู่ในทุกวันนี้ จะไม่ได้เห็น”

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บทสนทนานักธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายวงที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของม็อบในทิศทางใหญ่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องประยุทธ์และสถาบันนั้น เห็นชอบในหลักการ แต่กังขาเรื่องท่าที

ที่เปิดหน้ามาชัด ๆ ก็ เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่กล้าพูดเรื่อง ความ” และไม่พาดพิงเรื่อง คน” และเห็นว่าทุกฝ่ายต้องรับฟังซึ่งกันและกัน และอย่าใช้คำที่ บาดหัวใจคนไทย”

ทุกเจเนอเรชั่นต้องเคารพซึ่งกันและกัน และต้องเข้าใจจารีตประเพณีไทย ภายใต้กรอบกฎหมาย ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหามันมี”

เขาเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ ควรเกิดขึ้นหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว และใครก็ตามถ้าได้รับเลือกตั้งมาแล้ว อย่าพูดว่าทำไม่ได้…เป็นข้อแก้ตัวที่นักธุรกิจไม่อยากรับฟัง

เขาไม่เห็นด้วยกับ ระบบ” ที่มาของ ส.ว. 250 คน แต่ไม่ได้ไม่ชอบคนที่เป็น ส.ว.

ผู้นำคนใหม่ ในความเห็นของ เศรษฐา” คือ ต้องเป็นคนที่มีสโลแกนเหมือนพรรคกิจสังคมในอดีตที่ชูคำว่า เราทำได้”

ฟังความจากทุกข้างแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการประท้วง และเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก-ถึงโคน และไม่สามารถคาดการณ์ฉากจบได้