โอกาสของเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจเวียดนาม
ภาพจาก Pixabay
คอลัมน์ นอกรอบ
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

สำนักข่าวนิกเคอิได้นำเสนอบทความเปรียบเทียบเวียดนามและไทย โดยมองว่าเวียดนามและไทย เป็น 2 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่มองว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างเวียดนามและไทยจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หากดูจากอัตราการขยายตัวจะเห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามสูงกว่าไทย

โดย 5 ปีที่ผ่านมาเวียดนามขยายตัวเกือบ 7% ต่อปี ขณะที่ไทยขยายตัวเพียง 3.4% ต่อปี และในปี 2020 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนเศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังขยายตัวได้ (+2.9% ขณะที่ไทยน่าจะหดตัว 6-7%)

นิกเคอิได้นำเสนอว่า เวียดนามกำลังมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ ความน่าสนใจของเวียดนามได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ไทยซึ่งเคยเป็นฐานการผลิตเดิมกำลังสูญเสียตำแหน่ง

เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี 2007 และใช้เวลาไม่นานก็มีความโดดเด่นเหนือไทย ทำให้เงินลงทุนทางตรงจากนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้าเวียดนามสูงกว่าไทยนับแต่ปี 2014 และมีมูลค่าส่งออกสินค้าสูงกว่าไทยตั้งแต่ปี 2018

ความน่าสนใจของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับแต่เวียดนามเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา และโดยเฉพาะช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นประเทศที่นักลงทุนต้องการเข้าไปลงทุน จนมีความโดดเด่นมากกว่าไทยในเชิงการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

ทำไมนักลงทุนจึงสนใจเวียดนาม

ความได้เปรียบด้านแรงงาน เวียดนามมีประชากรที่อายุเฉลี่ยต่ำกว่าไทย และมีการขยายตัวของคนวัยทำงาน ขณะที่ไทยคนวัยทำงานกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ค่าจ้างแรงงานในเวียดนามยังคงต่ำกว่าไทยถึง 40%

ตลาดภายในของเวียดนามก็มีศักยภาพในการขยายตัวสูงกว่าไทย เพราะประชากรที่อายุเฉลี่ยต่ำกว่า มีแรงงานวัยทำงานเพิ่มขึ้น และมีอัตราการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดภายในของไทยเริ่มอิ่มตัว เพราะอายุเฉลี่ยของแรงงานและประชากรที่สูงกว่า และอัตราการขยายตัวของเมืองก็เริ่มชะลอ

กรณีการย้ายฐานการผลิตของบริษัท พานาโซนิค เป็นตัวอย่างที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุนได้ดี เพราะในอดีต พานาโซนิคได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออก แต่ก็ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นจากไทยไปยังเวียดนาม 2 ปีก่อน (แต่ยังคงฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และแบตเตอรี่บางส่วนในไทย) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความได้เปรียบของเวียดนามในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน และการมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศที่เป็นตลาดสำคัญ

และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ขนาดของตลาดภายในประเทศ ในปี 2019 เวียดนามมียอดขายตู้เย็น 2.8 ล้านเครื่อง และเครื่องซักผ้า 2.27 ล้านเครื่อง ขณะที่ในไทยมียอดขายตู้เย็นเพียง 1.92 ล้านเครื่อง และเครื่องซักผ้า 1.75 ล้านเครื่อง

นอกจากนี้ โอกาสในการขยายตัวของตลาดในเวียดนามมีสูงกว่าไทย เพราะ 92% ของครอบครัวไทยมีตู้เย็น และ 70% มีเครื่องซักผ้า ขณะที่เวียดนามครอบครัวที่มีตู้เย็นมีเพียง 74% และมีเครื่องซักผ้าแค่ 40%

ทั้งนี้ นิกเคอิได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เวียดนามจะมีความโดดเด่นและความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังมีความเข้มแข็งและมีความได้เปรียบในบางด้าน อาทิ โครงสร้างการส่งออกสินค้า เวียดนามส่งออกสินค้า 40% ไปอเมริกาและยุโรป

ขณะที่ไทยส่งออกสินค้ากว่า 30% ภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2019 ไทยเกินดุลการค้า (สินค้า) 13,900 ล้านเหรียญสหรัฐกับกลุ่มประเทศ CLMV (ในขณะที่ขาดดุลการค้ากับประเทศอื่น ๆ กว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

และไทยเกินดุลกับเวียดนามถึง 6,700 ล้านเหรียญ (ครึ่งหนึ่งของการเกินดุลกับกลุ่มประเทศ CLMV สินค้าส่งออกหลักไปยัง CLMV คือ สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในเวียดนามซึ่งน่าจะยังเป็นจุดแข็งและมีโอกาสในการขยายตัวได้ต่อเนื่อง

รายได้จากภาคบริการ ในปี 2019 ไทยเกินดุลภาคบริการ 23,300 ล้านเหรียญ ก่อนการระบาดของโควิด-19 สูงกว่าเวียดนามที่ยอดเกินดุลบริการเพียง 8,700 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ ในด้านการลงทุน แม้ว่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยจะน้อยกว่าเวียดนาม แต่ในทางกลับกัน คนไทยกลับไปลงทุนในต่างประเทศ (TDI) เพิ่มมากขึ้น โดยคนไทยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าต่างประเทศนำเงินมาลงทุนทางตรงในเมืองไทยนับแต่ปี 2015

โดยหากนับรวมเงินลงทุนของไทยที่นำออกไปลงทุนในต่างประเทศสะสมถึงปี 2019 คิดเป็น 60% ของ FDI และไทยถือเป็นประเทศที่มีการลงทุนในต่างประเทศ มากเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ การลงทุนของไทยนั้นส่วนใหญ่ลงทุนในประเทศเวียดนาม เช่น ไทยเบฟ เซ็นทรัลกรุ๊ป และกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย

ดังนั้น เราจะต้องไม่มองเวียดนามแค่เป็นคู่แข่ง แต่เวียดนามจะเป็นตลาดสินค้าที่มีศักยภาพของไทย รวมทั้งประเทศอื่นใน CLMV และพัฒนาการของกลุ่มประเทศ CLMV ในอนาคตจะมีความสำคัญต่อศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

หากประเทศไทยใช้ความได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์ ทำเลที่ตั้งและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ CLMV จะทำให้ไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดที่มีขนาดประชากรถึง 240 ล้านคน (ประชากรรวมของ CLMV+ไทย)