ระบบตั๋วร่วม 14 ปีไปไม่ถึงไหน

ตั๋วร่วม
ภาพ : advice.co.th/site_new/
บทบรรณาธิการ

ระบบตั๋วร่วม ถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะผลักดันตั๋วรถไฟฟ้าหลากสี ตามแนวคิด common ticketing system ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ แนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่พงมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่กระทรวงคมนาคมเสนอตั้งแต่ 7 พ.ย. 2549 หรือเมื่อ 14 ปีก่อน แต่ถูกเก็บใส่ลิ้นชักมานาน

ครั้งนี้แม้ไม่มีหลักประกันว่าจะทำได้สำเร็จ แต่เจ้ากระทรวงหูกวางประกาศชัด จะนำระบบตั๋วร่วมมาใช้กับบริการขนส่งสาธารณะทุกประเทศ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร ฯลฯ โดยเฟสแรกภายในสิ้นปีนี้จะนำร่องใช้กับรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

รมว.คมนาคมระบุว่า การนำตั๋วร่วมมาใช้จะสามารถควบคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการทุกระบบได้ แม้ปัจจุบันบางระบบไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของคมนาคม อย่างไรก็ตาม จะนำตั๋วร่วมมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าค่าบริการขนส่งระบบรางในปัจจุบันสูงเกินไป

จุดประกายความหวังนำระบบตั๋วร่วมมาช่วยบรรเทาภาระคนกรุง ท่ามกลางประเด็นร้อนปมปัญหาการต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้ได้รับสัมปทานและรับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ ครม.ให้ กทม.นำกลับไปทบทวน หลังคมนาคมท้วงติง

ถมถูกเบรกซ้ำไม่ให้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามที่ กทม.เสนอ จากสูงสุด 65 บาท เป็น 104 บาท ตั้งแต่ 16 ก.พ. 2564 แม้จริง ๆ แล้วนอกจากรถไฟฟ้าส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของคมนาคม อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบางซื่อ-หัวลำโพง, บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค สายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ กับรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และที่จะเปิดประมูลใหม่ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีแดง, ชมพู, เหลือง ฯลฯ โอกาสที่จะได้ใช้ตั๋วร่วมกับระบบอื่นอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม.ยังลูกผีลูกคน ต้องเคลียร์ทั้งปมขัดแย้งและประสานประโยชน์ให้ลงตัว

ปัญหาไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้าต่างระบบ ผู้รับผิดชอบดูแลต่างหน่วยงานเท่านั้น แต่ปมใหญ่อยู่ที่การแบ่งปันผลประโยชน์ รายได้ ระหว่างหน่วยงานรัฐกับภาคเอกชน และเอกชนกับเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุน ทั้งรับสัมปทานโครงการ รับสัมปทานเดินรถ รับจ้างเดินรถ ฯลฯ

ทำให้การเจรจาต่อรองหาข้อสรุปให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเอกชน หากไม่ถอยคนละก้าว ระบบตั๋วร่วม บัตรโดยสารอัจฉริยะคงเป็นได้แค่ฝัน ทั้งที่น่าจะทำให้เป็นจริงตั้งแต่ปีมะโว้