เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งปรับตัวรับนโยบายยุค ‘ไบเดน’

การส่งออก
แตกประเด็น
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ภายหลังจากที่ นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายสำคัญหลากหลายเรื่องที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติ

โดยเฉพาะนโยบายการบริหารจัดการวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่เน้นด้านการป้องกัน และการฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ขณะเดียวกันก็ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและการจ้างงานคนอเมริกัน ผ่านมาตรการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือคนว่างงาน รวมทั้งการขยายระยะเวลาในการพักชำระหนี้

การลงนามคำสั่งพิเศษ Buy American กำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ใช้สินค้าในประเทศ และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green New Deal) เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ การดำเนินยุทธศาสตร์ Indo-Pacific เพื่อร่วมมือกับชาติพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และการกลับมามีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในองค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งการกลับเข้าเป็นภาคีความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ความตกลงปารีส) เป็นต้น

หลังโจ ไบเดน เข้าบริหารประเทศมีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ถึง 3.5% ในปี 2564 โดยการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวอเมริกัน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ น่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อสินค้า และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้การสนับสนุน อย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เหล็ก และอะลูมิเนียม

รวมทั้งจะช่วยสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งเอเชีย แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงการยกเลิกมาตรการภาษีที่มีกับจีน

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดสหรัฐอเมริกาจึงควรเร่งเตรียมความพร้อม ขณะเดียวกันก็ปรับตัวรับนโยบายใหม่ของรัฐบาลสหรัฐ โดยอาจพิจารณาใช้สหรัฐเป็นฐานการผลิต หรือแสวงโอกาสในการส่งออกสินค้าที่ไทยยังได้เปรียบเรื่องแต้มต่อทางภาษี

รวมทั้งการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตามที่กำหนด เพราะสหรัฐจะเพิ่มความเข้มงวดและเชื่อมโยงกับเรื่องแรงงาน และสิ่งแวดล้อม

โดยสหรัฐอาจนำมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) และมาตรการติดฉลาก carbon footprint มาใช้กับสินค้าจำพวกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยานพาหนะและส่วนประกอบ

อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า

นอกจากนี้ก็อาจกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับสินค้ายานยนต์ เป็นต้น

การที่สหรัฐเข้าร่วมฉันทามติกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในการตั้งผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนใหม่ที่เป็นผู้หญิง และเป็นผู้แทนจากภูมิภาคแอฟริกาครั้งแรก น่าจะถือเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นบทบาทของ WTO ในเวทีการค้าโลก เพื่อเร่งปฏิรูป WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รวมทั้งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความชะงักงันของกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยเฉพาะการตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างลงช่วงก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี อาจจะยังเร็วไปที่จะเห็นสัญญาณจากไบเดน ในเรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ก็มีแนวโน้มว่าการเจรจา FTA ที่สหรัฐจะเข้าร่วม คงให้ความสำคัญกับเรื่องการยกระดับมาตรฐานแรงงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
สำหรับสินค้าไทยที่คาดว่าจะยังมีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตในตลาดสหรัฐ อาจประกอบด้วย กลุ่มสินค้าอาหาร เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ข้าว ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง

กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพและป้องกันเชื้อโรค เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย และกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่บ้าน (WFH) เช่น อุปกรณ์และของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ วัสดุแต่งสวน อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เกมความบันเทิง อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น

ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐมีมูลค่า 49,196 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 1.16%) โดยไทยส่งออกไปสหรัฐ 34,344 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 9.55%) และนำเข้าจากสหรัฐ 14,853 ล้านเหรียญสหรัฐ (หดตัว -14.06%) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสหรัฐ ได้แก่ 1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) ผลิตภัณฑ์ยาง 3) ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ 4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 5) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

และสินค้านำเข้าที่สำคัญจากสหรัฐ ได้แก่ 1) ยุทธปัจจัย 2) น้ำมันดิบ 3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 4) เคมีภัณฑ์ 5) แผงวงจรไฟฟ้า