เมื่อโควิด-19 เข้ามาใกล้ตัว

คอลัมน์ Healthy Aging

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เป็นพันรายติดต่อกันมาหลายวันแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งแตกต่างและร้ายแรงกว่าครั้งก่อน ๆ อย่างแน่นอน เพราะครั้งนี้คนใกล้ตัวเราไปตรวจและพบการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ทำให้ต้องนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่การติด COVID-19 จะนำไปสู่การป่วยและการเสียชีวิตกลับมาพลิกดูอีกครั้ง ซึ่งผมได้รวบรวมเอาไว้ในหนังสือ “สุขภาพดีตลอดไป Healthy Always)” ในบทส่งท้ายพิเศษ (Epilogue)

เพราะในช่วงนั้นเชื่อว่าความเสี่ยงจากการป่วยและเสียชีวิตจาก COVID-19 ของคนไทยนั้นน่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะกำลังจะได้รับวัคซีนมาฉีดกันอย่างถ้วนหน้า แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ดังที่ทราบกันว่าประเทศไทยฉีดวัคซีนน้อย และล้าหลังประเทศอื่น ๆ อย่างมาก

นอกจากนั้น ประเทศอินเดียก็กำลังเผชิญกับการระบาดที่หนักหน่วง (มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่า 2 แสนคนต่อวัน) และประเทศพม่าก็มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ระบบสาธารณสุขหมดสภาพในการสกัดกั้นหรือป้องกันการระบาดของ COVID-19

ดังนั้น จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของไทยในขณะนี้นั้นอาจยืดเยื้อไปได้อีกนานนับเดือนและรุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ ในขณะที่วัคซีนนั้นกว่าจะนำมาฉีดให้คนไทยในจำนวนมากและอย่างทั่วถึงนั้น คงจะต้องรอจนกระทั่งเดือนมิถุนายนหรือหลังจากนั้น

ข้อมูลที่ผมรวบรวมมาเกี่ยวกับการป่วยและเสียชีวิตจาก COVID-19 นั้น คือ ข้อมูลจาก Center for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐ โดยวิเคราะห์ชาวอเมริกันที่ยืนยันว่าติดเชื้อเป็น COVID-19 จำนวน 1.3 ล้านคน และเสียชีวิต 103,700 คน ในช่วง 22 มกราคมถึง 30 พฤษภาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐประสบวิกฤตจากการระบาด COVID-19 เพราะไม่ได้เตรียมตัวรับมือเอาไว้และยังไม่รู้จักโรคนี้

นอกจากนั้นก็ยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด จึงน่าจะสรุปได้ว่าผู้ที่หายป่วยนั้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการทำงานที่ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง จากข้อมูลดังกล่าวสัดส่วนการเสียชีวิตนั้นสรุปได้จากตารางข้างล่างนี้

จะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมนั้น ผู้ชายมีโอกาสเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้มากกว่าผู้หญิง (6.0% กับ 4.8%) แต่ที่สำคัญ คือ หากมีโรคประจำตัวแล้ว ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10 เท่าตัว สำหรับทั้ง 2 เพศ

เปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว กล่าวคือผู้ชายที่ไม่มีโรคประจำตัว มีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1.7% และความเสี่ยงสำหรับผู้หญิงคือ 1.5%

ดังนั้นการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี ปราศจากโรค จึงย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในภาวะที่อันตรายจาก COVID-19 กำลังคืบเข้ามาใกล้ตัว

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ตามมา คือ อายุ กล่าวคือคนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปนั้น เริ่มจะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัวนั้น ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจาก COVID-19 จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่อายุ 70 ปีขึ้นไป

น่าจะเป็นเพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้นจะเสื่อมตัวลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่อายุ 55 ปี เป็นต้นไป

ประโยชน์ของการดูแลตัวเองให้สุขภาพดีนั้น เห็นได้จากการเปรียบเทียบกลุ่มคนอายุ 30-39 ปี ที่มีโรคประจำตัว จะมีอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 เท่ากับ 2.8% ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงกว่าคนอายุ 60-69 ปี ที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจาก COVID-19 เท่ากับ 2.4% หมายความว่า สุขภาพไม่ดีทำให้คนอายุ 30-39 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าคนอายุ 60-69 ปี

ที่จะเป็นข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ การติด COVID-19 แล้ว ทำให้ต้องได้รับการรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาล เพราะมีความเป็นไปได้มากว่า สถานการณ์ในประเทศไทยที่มีการระบาดรุนแรงมากขึ้นนั้นจะทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลขาดแคลน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งที่สหรัฐ และที่ยุโรป ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีตัวเลขของ CDC สหรัฐ ดังปรากฏในตาราง 2 สำหรับสถิติการต้องเข้ารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาล

จากข้อมูลดังกล่าวนั้น ผมเข้าใจว่าคนจำนวนมากที่ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐ และยุโรปนั้นกักตัวเองและรักษาตัว ณ ที่อยู่อาศัยของตัวเอง มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการป่วยมากจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล กล่าวคือในสหรัฐ จากผู้หญิงที่เป็น COVID-19 จำนวน 100 คน มีจำนวน 12.4 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาล และมีจำนวนผู้ชาย 15.6 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ที่สำคัญคือคนที่มีโรคประจำตัวนั้น ประมาณครึ่งหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ที่ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงนั้น มีเพียง 8-9% (ไม่ถึง 1 ใน 10) ที่ต้องเข้ารับการ
รักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งน่าจะเป็นแรงจูงใจอย่างสูงให้ทุก ๆ คนดูแลสุขภาพตัวเองให้สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด

ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ผู้สูงอายุนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยอย่างมากในการต้องพึ่งพาการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เช่น ในกลุ่มของผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวนั้น ผู้ที่อายุเกินกว่า 50 ปี มีความเสี่ยง 10% หรือมากกว่าที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น

โรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคที่ไม่ติดต่อซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการทำให้ผู้ที่เป็น COVID-19 จะต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต มีโรคใดบ้าง ?

ตรงนี้หลายคนคงจะจำได้แล้ว แต่ผมขอนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง โดยนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความชุกของโรค (Percent of Prevalence) มาเสนอด้วย แต่เป็นข้อมูลจากชาวอเมริกัน ไม่ใช่คนไทย แต่สัดส่วนนั้นไม่น่าจะแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะสำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ครับ

โรคที่ CDC สหรัฐกล่าวถึงข้างต้นนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการมีน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน และอาการความดันโลหิตสูง ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กันเองอีกเช่นกัน

ดังนั้น การมีสุขภาพที่แข็งแรงนั้นจึงจะต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ที่เกณฑ์ (รอบเอวประมาณ 45-49% ของความสูง) และควรมี lifestyle ที่ส่งเสริมสุขภาพ คือ การกินอาหารอย่างจำกัด การนอนหลับให้เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเกือบทุกวัน ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมงครับ