เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “บุญ” BCG Model พัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดระลอกใหม่ในปัจจุบัน ภายใต้มาตรการ # อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ การรักษาระยะห่างทางสังคมตลอดจนการทำงานที่บ้าน (work from home) สถานประกอบการหลายแห่งปิดทำการเพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัส การใช้บริการอาหารแบบส่งถึงที่ (food delivery) รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์

ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤตซ้อนวิกฤตและต้องมีการเร่งรับมือ โดยจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมจัดการกับขยะที่เกิดขึ้น

ประกอบกับวิกฤตจากปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งยากต่อการจัดการไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยในปี 2563 ขยะมูลฝอยในประเทศเกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน (ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4) และขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณปีละ 2 ล้านตัน โดยขยะมูลฝอยจะถูกคัดแยก ณ ต้นทางและนำกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยเพียงประมาณปีละ 11.93 ล้านตัน โดยส่วนที่เหลือไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และยกระดับให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น จึงจัดทำโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นำขยะที่เกิดขึ้นกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bioeconomy Circular economy Green economy : BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ขยะที่หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และจุดส่งต่อให้กับโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดด้วย “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

วัตถุประสงค์

เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

เพื่อสนับสนุนให้มีการนำขยะที่เกิดขึ้นกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นการขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bioeconomy Circular economy Green economy : BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมไทยสู่สังคมรีไซเคิล ส่งเสริมการนำขยะที่หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และส่งต่อให้กับโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย

1.หน่วยงานราชการ

2.หน่วยงานเอกชน

3.ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ

4.นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป

5.โรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

แนวทางการดำเนินงาน

ส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนนำขยะที่ผ่านการใช้แล้วส่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ส่งต่อสังคมและคืนประโยชน์ให้กับสังคมไทยในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนี้

1.กล่องและลังกระดาษที่ใช้แล้ว ผลิตเป็นเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยดำเนินการร่วมกับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส)

2.กระป๋องน้ำดื่มอะลูมิเนียมที่ใช้แล้ว ส่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์กระป๋องน้ำดื่มใหม่ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งมอบสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ดำเนินงานป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยดำเนินการร่วมกับบริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด

ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วยแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”