ส่องอุตสาหกรรมสุกรไทย หลังอหิวาต์แอฟริกันระบาดในเอเชีย

ช่วยกันคิด
ปราโมทย์ วัฒนานุสาร ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ราคาสุกรในเอเชียที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever : ASF) โดยจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสุกรหลักของเอเชียมีการกำจัดสุกรไปแล้วมากกว่า 10 ล้านตัว ทำให้อุปทานสุกรขาดแคลน และมีความต้องการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ในหลายประเทศมีความพยายามในการควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าว เพื่อให้สถานการณ์การผลิตสุกรกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

คำถามที่น่าสนใจ คือ ต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ? ผลผลิตสุกรของเอเชียจึงจะกลับสู่ภาวะปกติ อุตสาหกรรมสุกรของไทยหลังการระบาดของโรค ASF จะมีทิศทางอย่างไร ? และผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร ?

ก่อนอื่นเรามาดูสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในเอเชียว่าเป็นอย่างไรบ้าง ล่าสุดยังพบการระบาดของโรค ASF ในแถบเอเชีย อาทิ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ยังควบคุมการระบาดของโรคได้ ขณะที่ไม่พบการระบาดในไทย

ซึ่งการระบาดในแถบเอเชียนี้มีลักษณะกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะจีนยังพบการระบาดของโรค ASF ส่วนหนึ่งเกิดจากการลักลอบบรรทุกสุกร 2 ตัวที่ตายแล้ว จากทั้งหมด 10 ตัว ในมณฑลเสฉวน อย่างไรก็ดี ภาพรวมการผลิตสุกรของจีนจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯของจีนระบุว่า ผลผลิตเนื้อสุกรในไตรมาสแรกปี 2021 อยู่ที่ 13.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 31.9% YOY ประกอบกับการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ สนับสนุนสินเชื่อพิเศษสำหรับฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ ส่งเสริมภาคการผลิตให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคได้

คาดว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน ? ผลผลิตสุกรของเอเชียจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ผู้เขียนมองว่าผลผลิตสุกรของเอเชียจะกลับสู่ระดับผลผลิตก่อนเกิดโรค ASF ได้ในปี 2023 โดย Fitch Solutions คาดการณ์ในปี 2021 ผลผลิตสุกรในเอเชียจะกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 6.3% หลังเกิดโรคระบาดที่รุนแรงในปี 2018

Advertisment

เช่นเดียวกับจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสุกรหลักของเอเชียที่มีผลผลิตสุกรเติบโต 7.5% ในปี 2021 ทั้งนี้ จากการร่วมมือกันของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของจีนในการจัดการและควบคุมการระบาดของโรคที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลผลิตสุกรของจีนฟื้นตัวตามลำดับ คาดว่าผลผลิตสุกรของจีนจะกลับสู่ระดับก่อนเกิด ASF ในปี 2023

การระบาดของโรค ASF ในเอเชีย ส่งผลต่ออุตสาหกรรมสุกรไทยอย่างไร ?

Advertisment

ประการแรก ผลต่อปริมาณส่งออก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่พบการระบาดในไทย ทำให้ปริมาณส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมจะส่งผลดีต่อตลาดสุกรไทยไม่มากนัก เพราะการผลิตเนื้อสุกรในไทยยังเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก สัดส่วนกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด และมีเหลือเพื่อการส่งออกเพียงร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตเท่านั้น

ประการที่สอง ผลต่อราคา เนื่องจากการระบายอุปทานในประเทศผ่านตลาดส่งออกทำได้มากขึ้น ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งมีการบริหารจัดการฟาร์ม การป้องกันโรคระบาดได้มีประสิทธิภาพ แม้ยังเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาตลาดโลกโดยเฉพาะกากถั่วเหลือง แต่เกษตรกรยังมีกำไร

อย่างไรก็ตาม ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีข้อจำกัดในการขยายตลาด หรือไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง จึงไม่สามารถปรับตัวกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจรและสามารถบริหารจัดการวัตถุดิบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจะยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้

อุตสาหกรรมสุกรไทย หลังการระบาดของโรค ASF จะมีทิศทางอย่างไร ?

ในระยะข้างหน้าหากสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติอาจทำให้การส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรของไทยชะลอลง หากผู้เลี้ยงเพิ่มการเลี้ยงมากเกินไปอาจเกิดภาวะอุปทานล้นตลาด กดดันราคาสุกรในประเทศในระยะต่อไป จนส่งผลให้ผู้เลี้ยงประสบปัญหาขาดทุน

จากสถานการณ์ราคาสุกรในอดีต (ปี 2014 ราคาสุกรมีชีวิตอยู่ในระดับสูงสุดถึง 75 บาท/กก.) จูงใจให้ผู้เลี้ยงขยายการผลิต ทำให้ผลผลิตสุกรปี 2015-2018 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2018 ไทยมีปริมาณผลผลิตสุกรมีชีวิตออกสู่ตลาดมากถึง 23 ล้านตัว ส่งผลให้ราคาปี 2018 ตกต่ำลงเหลือ 59 บาท/กก.

นอกจากนี้ จำเป็นต้องติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคระบาดอื่น ๆ ในสุกรอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากโรค ASF เช่น โรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) สายพันธุ์ใหม่ในสุกร ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายไปกับยานพาหนะ คน สัตว์ หรือซากสัตว์

แม้โรค PRRS จะมีวัคซีนป้องกัน แต่ปริมาณวัคซีนที่มีจำหน่ายในประเทศยังไม่เพียงพอ ราคาสูง และการใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค ต้องทำควบคู่ไปกับการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม

จากที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาและความท้าทายของโรคระบาด ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร ?

Krungthai COMPASS แนะนำให้เกษตรกรเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าควบคู่กับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์หมูออร์แกนิก
ไม่ใช้ฮอร์โมนและไม่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ และขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มีกำลังซื้อสูง

และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการผลิตและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ซึ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูงที่สุด การใช้เทคโนโลยี IOT เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางได้ และเทคโนโลยี AI ในการจดจำลักษณะของสุกรแต่ละตัว เพื่อตรวจสอบสุขภาพของสุกร ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายของลูกสุกร

ในส่วนของผู้ประกอบการในธุรกิจการชำแหละสุกร ควรต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสุกร ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการแปรรูป โดยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อาหารพร้อมรับประทาน ได้แก่ แฮม เบคอน ไส้กรอก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี และอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพจากสุกรแปรรูป ซึ่งมีไขมันต่ำและโปรตีนสูง เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยส่งเสริมกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติแบบต่อเนื่อง ตั้งแต่การบริหารจัดการวัตถุดิบจนถึงการจัดเก็บผลิตภัณฑ์เพื่อให้กระบวนการผลิตได้มาตรฐานและปลอดภัย การใช้เทคโนโลยี active packaging ที่ช่วยรักษาความสดใหม่และช่วยยืดอายุการเก็บให้นานขึ้น

โดยสรุปผู้เขียนมองว่า อุตสาหกรรมสุกรไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ควบคู่กับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่ความนิยมของเนื้อสัตว์จากพืชหรือโปรตีนจากพืช (plant-based food/plant-based meat) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ (prcessed meat) และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ (animal product) ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ