วัคซีนสัญชาติไทย

คอลัมน์สามัญสำนึก
พิเชษฐ์ ณ นคร

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2564 มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาในคลินิก มีการทดสอบการใช้ยากับคนซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง รวมเบ็ดเสร็จ 102 ตัว อีก 185 ตัว อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาในขั้นตอน preclinic development ก่อนทดสอบฉีดในคน

ในจำนวนนี้มีวัคซีน Chula-Cov19 mRNA vaccine ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ในขั้นตอน preclinic development ก็มีวัคซีนจากการวิจัยพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (Chula Vaccine Research Center) กับองค์การเภสัชกรรม

นอกจากนี้ ต้นปีที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล วิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย และเริ่มทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัคร ระยะที่ 1 และ 2 แล้ว ต้นปี 2565 จะศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ก็อยู่ระหว่างวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนโควิด-19 แบรนด์ไทยเช่นเดียวกัน

ในอนาคตอันใกล้ถ้าวัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาในหลาย ๆ ประเทศสำเร็จ ผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ จากทั้งหมดเกือบ 300 ตัว แม้นำมาใช้ได้จริงแค่ครึ่งหนึ่งก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน และราคาแพงได้

เพราะโควิดไม่หมดไปจากโลก ยังอยู่กับเราอีกนาน การระบาดยังมีต่อเนื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงจึงจำเป็น เหมือนไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น ต่อไปวัคซีนโควิดจะกลายเป็นวัคซีนประจำปีสำหรับทุกคน

ถามว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัด อย่างไรก็ตาม WHO จะได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนอาจแตกต่างกันไป

อย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ รวมทั้งภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลง ขณะที่วัคซีนหัดเยอรมันป้องกันจากโรคได้หลายปี หรือตลอดชีวิต

บังเอิญมีข่าวใหญ่ข่าวดีต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “วัคซีนรุ่นแรกของไทย ! แพทย์จุฬาฯเริ่มฉีดทดลองในมนุษย์ครั้งแรกแล้ว” ทำให้คนไทยทั้งประเทศตื่นเต้นยินดีกันถ้วนหน้าหลังรอลุ้นมานาน ขอนำมาถ่ายทอดซ้ำเพราะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยกย่อง

งานนี้ต้องยอมรับว่าฝีมือความสามารถของคณะแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ไทย ไม่แพ้ประเทศไหนในโลก

ล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทดสอบการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดี ระยะที่ 1

และจะทดสอบต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน Chula-Cov19 (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) ซึ่งเป็นวัคซีนที่จุฬาฯ ได้ร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกร่วมพัฒนา วิจัย ต่อยอด คิดค้น และผลิตขึ้น

Chula-Cov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ) เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมจิ๋วเข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย

หลังทดสอบระยะแรก และเดือนสิงหาคมนี้จะทดสอบระยะที่ 2 แล้ว หากสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์จนสามารถยกเว้นการทำทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ได้ วัคซีนนี้อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ภายในก่อนกลางปีหน้า ถ้าเป็นจริงจะเป็นวัคซีนสัญชาติไทยตัวแรกสู้โควิด