วิกฤตซ้ำซ้อนสะท้อนภาวะผู้นำ

Photo by AFP
บทบรรณาธิการ

เร็วเกินไปที่จะประเมินว่าแผนนำร่องเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะบรรลุเป้าหมายหรือมีอุปสรรค แต่ความท้าทายอยู่ที่จะบริหารจัดการอย่างไรให้โครงการดำเนินไปได้ราบรื่น ไม่ติดขัด ทำให้ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวทั้งในเกาะภูเก็ต และเมืองท่องเที่ยวแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ พอมีความหวัง เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ระลอก 4 ที่ระบบสาธารณสุขใกล้ถึงจุดรับไม่ไหว ผู้ติดเชื้อรายวันทะยานต่อเนื่อง จาก 3,000-4,000 คน พุ่งขึ้นกว่า 5,000-6,000 คนต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตไต่ระดับเป็นวันละกว่าครึ่งร้อย สถิติผู้ป่วยสะสมรวมถึง 1 กรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 264,834 ราย มียอดผู้เสียชีวิต 2,080 ราย

ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่โควิดยังลามหนัก แต่อีกหลายจังหวัดการแพร่ระบาดก็มีแนวโน้มรุนแรง ภาคธุรกิจ รากหญ้า แรงงาน คนชั้นกลางกระทบถ้วนหน้า จากสถานการณ์เศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง รายได้ที่ลดน้อยลง แถมยังวิตกกังวลไม่เชื่อมั่น เผชิญกับความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและสุขอนามัย

ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตซ้ำซ้อน จากมหันตภัยโควิด-19 กับวิกฤตการบริหารจัดการของภาครัฐ ที่นานวันยิ่งสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังและทางเลือกเดียวในการควบคุมป้องกันโควิด-19 แต่เวลาผ่านไปปีเศษความเชื่อมั่นในรัฐบาลยิ่งจมดิ่ง เพราะรัฐติดกับดักวัคซีนดิ้นไม่หลุด

การปูพรมฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้นำประเทศป่าวประกาศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย ฯลฯ ประสานเสียงรับนโยบาย แต่หลังคิกออฟวันที่ 7 มิถุนายน แค่ไม่กี่วันปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่กลับล่มไม่เป็นท่า เพราะวัคซีนไม่มาตามนัด

ประชาชนพร้อม หมอ พยาบาลพร้อม แต่ความไม่พร้อม ไม่เพียงพอของวัคซีนหลักอย่างแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ต้องลุ้นวันต่อวัน จนถูกตั้งคำถาม ข้อสงสัยนับไม่ถ้วน แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไม่เคยแจงให้ชัด ล่าสุด สถานการณ์เลวร้ายเอาไม่อยู่เพิ่งยอมจำนนว่าไม่สามารถผลิต จัดส่งวัคซีนให้รัฐได้ตามปริมาณที่กำหนด

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ได้ตั้งไข่ แต่หลังฉากคนไทย ภาคธุรกิจไทยเกือบทั้งประเทศจมอยู่กับกองหนี้ และคราบน้ำตา จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ธุรกิจเสียหาย ถ้ารัฐบาล ผู้นำประเทศมีฝีมือ ความสามารถบริหารจัดการภาวะวิกฤตมากกว่านี้ สถานการณ์เศรษฐกิจ โควิดน่าจะคลี่คลาย แต่นี่ตรงกันข้าม ประเทศจึงไม่พ้นภัยเสี่ยง มีผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตในอัตราเร่งรายวัน หยุดไม่อยู่