ล็อกดาวน์ 14 วัน ความหวัง “ประเทศไทย”

กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือห้างตรึงราคาสินค้าช่วงสงกรานต์
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

 

เช้าวันที่ 9 ก.ค. 2564 เป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุไป 9,276 คน เป็นหลัก 9 ครั้งแรก นิวไฮรอบเท่าไรไม่รู้ (ไม่ได้นับ) แต่ที่รู้คือ แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดมีโอกาสทะลุ 1 หมื่นคน ตามการแถลงข่าวของ แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 จากการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ “เดลต้า”

ย้อนกลับมาดูตัวเลขการฉีดวัคซีน ซึ่งทางหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประชุมกันอย่างเร่งด่วนในวันที่ 8 ก.ค. 2564 ร่วมกับผู้บริหารระดับสูง CEO จากบริษัทชั้นนำกว่า 40 คน ที่แสดงความเป็นห่วงระบบสาธารณสุข และผลผูกพันต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะสถานะการเข้าถึงวัคซีนของคนไทยน่าห่วงมาก

กล่าวคือ มีคนไทยที่เข้าถึงวัคซีนเข็มที่ 1 เพียง 12.5% และคนไทยที่เข้าถึงวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงแค่ 4.7% ของจำนวนประชากรเท่านั้น ทั้งที่ทุกคนตระหนักร่วมกันว่า “วัคซีน” เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การปลดล็อกปัญหาการแพร่ระบาด ก่อนเปิดประเทศในอนาคต

นำมาสู่บทสรุป การออกมาตรการเข้มป้องกันการแพร่ระบาด หรือล็อกดาวน์บังคับเฉพาะพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดง เป็นเวลา 14 วันนับจากวันที่ 12 ก.ค. 2564 พร้อมกับการประกาศสละเงินเดือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ รมต. บางคนอีก 3 เดือน

ในจังหวะนี้ “เอกชน” น่าสงสารมาก ทุกคนยอมเจ็บ แม้ว่าไม่รู้ว่าจะจบไหม ขอเพียงรัฐบาลใช้ช่วงเวลา 14 วันนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ผู้นำภาคเอกชนทั้ง “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการระบาดรุนแรงระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ของไทย ทำให้ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการใช้มาตรการครั้งนี้ แม้ว่าอาจจะต้องสูญเสียตัวเลขเศรษฐกิจ 5 หมื่น-1 แสนล้านบาทก็ตาม

เช่นเดียวกับผู้ส่งออกหลายราย เช่น “นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์” ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด มองว่า เอกชนยอมรับได้หากจะล็อกดาวน์ 7-14 วัน โดยยกตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งหลังจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเมืองกว่างโจว แค่เพียงประมาณ 100 คน จีนก็ใช้มาตรการล็อกดาวน์กว่างโจว ปิดพื้นที่ ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 10 วัน ก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ไปได้

ทั้งนี้ สิ่งแรกที่เอกชนคาดหวัง ให้รัฐดำเนินการทันที หลังจากล็อกดาวน์ คือ การเพิ่มมาตรการตรวจเชิงรุก หาผู้ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน และแยกคนที่ติดออกจากคนที่ไม่ติด ต้องแก้ปัญหาสถานที่ตรวจ การอนุญาตนำชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดแบบเร่งด่วน หรือ Rapid Antigen Test เข้ามาใช้ พร้อมกับเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงการเตรียมมาตรการ Home Isolation ให้พร้อมด้วย

หัวใจสำคัญ คือ จะต้องเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด

ซึ่งทางหอการค้าฯ​สแตนด์บายสนับสนุนเปิดพื้นที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน 25 แห่ง แม้ว่าจะ “ปิด ๆ เปิด ๆ” เพราะไม่มีวัคซีน แต่หากจะปิดศูนย์คืนพื้นที่ไปเลย ก็เกรงว่าเมื่อถึงคราวที่วัคซีนที่สั่งไว้ 10-20 ล้านโดส มาก็จะไม่มีจุดรองรับอีก ฉะนั้นต้องมองถึงการปรับใช้ประโยชน์ของศูนย์นี้

ส่วนมาตรการเยียวยารอบใหม่ แม้ว่าจะไม่ใช่การล็อกดาวน์ทั้งประเทศแบบปี 2563 แต่ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ-เอกชนก็บอบช้ำมามาก ต้องยอมรับว่า “กระสุน” อาจจะหมด สิ่งสำคัญคือการจัดหาแหล่งเงิน เพื่อมาใช้เสริมสภาพคล่อง อัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ ประหนึ่งการใช้มาตรการ QE กระตุ้นการจับจ่าย ตลอดจนการลดภาระค่าใช้จ่ายเอกชน และการลดค่าครองชีพประชาชน

ด้วยความหวังว่าเมื่อจังหวะเวลาเหมาะสม สามารถเปิดประเทศได้ อาจจะเริ่มเปิดในพื้นที่พร้อมก่อน จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ถ้าโชคดีทันฤดูกาลท่องเที่ยวไฮซีซั่น ไทยอาจจะมีโอกาสทำให้จีดีพีของไทยในปีนี้ไม่ติดลบ