Debt Overhang-หนี้ท่วมหัว…ระเบิดเวลา ลูกต่อไป

Photo by REUTERS
คอลัมน์ สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ในสถานการณ์รุนแรงขั้นวิกฤต และในเวลาเดียวกันโควิด-19 ก็ได้ซ้ำเติมให้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ของคนไทยหนักหนามากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาสแรกปี 2564 พุ่งขึ้นทำนิวไฮที่ 90.5% ต่อจีพีดี ด้วยมูลค่า 14.1 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูล 18 ปี และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

จากก่อนการระบาดของโควิด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 79.8% เรียกว่าหนี้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด

เรียกว่าครัวเรือนไทยอยู่ในภาวะ “หนี้ท่วมหัว”

และที่สำคัญตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ที่ปรากฏยังไม่ใช่ตัวเลขแท้จริงทั้งหมด

เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รวมหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) รวมถึงหนี้นอกระบบที่ไม่รู้เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าเป็นตัวเลขสูงมาก

ขณะที่โควิด-19 ทำให้ความสามารถชำระหนี้ของประชาชนทรุดลงอย่างรุนแรง เพราะรายได้ลดจากสถานการณ์ต่าง ๆ และอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกงาน จนไม่มีรายได้

แม้ว่าตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ขยับเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะ ธปท.มีมาตรการให้พักหนี้เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย แต่สำหรับประชาชนข้อเท็จจริงก็คือมีหนี้มากขึ้น

เพราะมาตรการพักหนี้ของแบงก์ชาติเป็นการ “พักการชำระหนี้” แต่ “ดอกเบี้ย” ยังเดินทุกวัน

ทำให้สถานะของประชาชนยุคโควิดโดยเฉพาะชนชั้นกลาง-ล่างจะมีหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง

แบบว่า “หนี้เก่าไม่ลด-หนี้ใหม่เข้ามาถม”

และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ก็ทำให้ภาคครัวเรือนไทยจำนวนมากเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และกลายเป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ของ ธปท.และสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ใหญ่รออยู่ข้างหน้า

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า ภาคครัวเรือนไทยเสี่ยงเกิด ภาวะ debt overhang คือภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่าย จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดข้อมูลเงินฝากคนไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่ากลุ่มผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อบัญชี และไม่เกิน 1 แสนบาทต่อบัญชีมีเงินฝากลดลง ซึ่งอาจสะท้อนภาพการถอนเงินฝากมาใช้เพื่อประคองชีวิตในช่วงโควิด-19

ขณะที่วันนี้ปัญหาโรคระบาดในประเทศไทยยังไม่เห็นปลายทางนั่นหมายถึง ภาวะปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย รวมถึงปัญหาสังคมก็จะหนักมากขึ้นตามความรุนแรงของโรคระบาด

เรียกว่าหลังจากคนไทยผ่านพ้นการระบาดหนักของโควิด-19 ก็ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาประชาชนมี “หนี้สินท่วมหัว” ไปจนถึงสถานการณ์หนี้เสียจำนวนมากที่จะถูกฟ้องร้องตามมา

นี่เป็นโจทย์ที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผนรับมือ

โดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เขียนบทความระบุถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า ในมุมเศรษฐกิจแล้วสัดส่วนหนี้ที่สูงแบบนี้ไม่เพียงฉุดรั้งเศรษฐกิจ แต่ยังเสี่ยงที่จะเห็นการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

“ภาระหนี้ครัวเรือนในเวลานี้เปรียบเหมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ การเร่งถอดชนวนระเบิดโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดการหนี้นอกระบบ เป็นกุญแจสำคัญที่จะพาเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตหนี้ครัวเรือน”

นอกจากนี้ ดร.ดอนได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยช่วงนี้เรียกได้ว่า “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” อาจต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี หรือปี 2570 ที่จะฟื้นไข้จากพิษโควิด

นั่นคือภาพใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ แต่ที่น่ากังวลคือ ประชาชนระดับฐานรากจะแข็งแรงพอที่จะยืนระยะต่อสู้ยาวนานแบบนี้หรือไม่