ข้างหลังประยุทธ์

คอลัมน์ สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมาจากภายนอกเป็นหลัก

ทั้งโรคระบาดที่กลายพันธุ์ คนป่วย ล้มตายโดยปราศจากการจัดการของกลไกข้าราชการ

ปัญหาพายุเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน จะเป็นดีกรีตัวเร่งร่วมขบวนม็อบเขย่าเก้าอี้รัฐบาล

บวกกับการปั่นข่าวลือจากโลกทวิตเตอร์ เอคโค่แชมเบอร์ต่อในคลับเฮาส์ แล้วลากยาวไปที่พรรคการเมือง

วัคซีนที่ถูกจัดสรรล่าช้า คือระเบิดเวลา ลูกสำคัญ ที่จะทำให้ระบบการคุมโรคอับปาง-ติดเชื้อและตายถล่มทลาย

แต่ปัจจัยทั้งหลายนี้อาจจะไม่มีพลังรุนแรงหนักมากพอ ที่จะผลัก “พล.อ.ประยุทธ์” ให้พ้นอำนาจ

เพราะข้างหลังรัฐบาล ที่มีแต่ทหารและข้าราชการ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย 3 ป. คุมอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่าง ตั้งแต่วัคซีน เงินทอง ข้าวปลา ยา และเตียงคนไข้

รอบตัวนายกรัฐมนตรี มีแต่กลไกข้าราชการ 100% การตัดสินใจทุกอย่างมีขั้นตอนทอดยาว

ทีมเศรษฐกิจ-การเมือง และความมั่นคง ถูกรวมอำนาจไว้ในมือ 12 อรหันต์ ตึกไทยคู่ฟ้า ไม่มีเงาคนการเมืองแม้แต่คนเดียว

บุคคลที่ถูกไว้ใจ เรียกใช้ มีเพียงสายบังคับบัญชาทางตรงจากนายกรัฐมนตรีเท่านั้น อาทิ เสนาธิการคนสนิท รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ รมว.คลัง รมว.มหาดไทย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการสภาความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

แท็กทีมกับ 2 นักธุรกิจที่ถูกบรรจุในตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” กับ 1 เทคโนแครต เครือข่ายแนบแน่น คือ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

และ 1 บุคคลที่มีที่มาไม่ธรรมดา อย่าง นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ปฏิบัติหน้าที่ ที่ปรึกษานายกฯ ร่วมกับ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร ทีทีบี มีลูกข่ายนักเศรษฐศาสตร์ ที่อยู่ในสำนักวิจัยธนาคารเอกชนชื่อดัง ร่วมชงข้อมูล

ทั้งมาตรการเศรษฐกิจ กู้-แจกเยียวยา ทุกชนชั้น จัดหา-จัดซื้อ วัคซีนด้วยวิธีปกติ และวิธีพิเศษ เงินทุกก้อน ยาทุกเม็ด วัคซีนทุกโดส ถูกจัดการตรงจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกแชร์อำนาจไปบ้างบางส่วน ในวาระแต่งตั้ง-โยกย้าย ข้าราชการระดับสูง ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพและในมหาดไทย รวมทั้งการจัดหาวัคซีน แต่วงจรอำนาจ ยังอวลอยู่ในหมู่ชนชั้นอำมาตย์วงเดียวกัน

คนการเมืองในรัฐบาล ห่างจากวงจรอำนาจศูนย์กลาง ทำมาหาเลี้ยงชีพตามเส้นทางของใครของมัน เตรียมการสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

ภูมิใจไทย พรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล แยกย้ายไปทำงานเชิงพื้นที่การเมือง ถือเป็นพรรคที่อาวุธครบมือ ทั้งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องคมนาคม ท่องเที่ยว และสาธารณสุข สอดคล้องกับการคุมพื้นที่เลือกตั้ง วางทีมเจาะเขตฐานเสียงสร้าง ส.ส.ใหม่ ทั้งเขตภาคใต้ เหนือ กลาง และอีสาน

ทีมจัดตั้งเป็นปึกแผ่น เพราะสไตล์คนใจถึงผนึกกับคนใจถึง จัดการแบบจับตัววางตาย บุกแล้วต้องได้ พร้อมสรรพทั้งแบ็กอัพทุน เปิดท่อรับฝากเลี้ยง ส.ส.ที่แตกพ่าย มาจากพรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทย และอนาคตเคยใหม่

แนวรบที่ร่อยหรอ และย่ำอยู่กับที่ คงมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่อัดเงินภาษีประชาชนสำหรับการประกันรายได้เกษตรกร รอบเล้วรอบเล่า สนธิกำลังระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ที่ห่างไกลจากการเมืองเชิงพื้นที่ และสถานการณ์โรคระบาด ที่ประชาชนขาดที่สุดคือกำลังซื้อ ต้องเผชิญหน้าสินค้าราคาแพง ทะลุหน้ากากอนามัย ผลงานอยู่ที่ไหน ยังไม่ชัดเจน

เลือกตั้งครั้งต่อไป หากเป็นไปตามวาระ คือ 2566 พรรคที่สูญเสียกำลัง ส.ส.ครั้งใหญ่ คงหนีไม่พ้น ประชาธิปัตย์

พรรคใหญ่ที่หนุนโดยทุนใหญ่ ยังยืนเด่นที่พลังประชารัฐ เพราะรับฝาก ส.ส. จ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยรายเดือนไว้หลายพรรค อย่างน้อยเวลานี้ มีบัญชีจากเพื่อไทย ราว 10 ราย

เกมในกรรมาธิการงบประมาณ การผลักงบฯกลาง 1.6 หมื่นล้าน คืนไปที่ทำเนียบ คือฉากหนึ่งของการเล่นแร่แปรธาตุ ผันเงินไปพื้นที่การเมือง ไม่นับรวมการร่วมเคลียร์บัญชีคดี ที่มีค้างมาจากอดีต ล้างตัวจุติใหม่ ในทีมว่าที่รัฐบาล

โหราจารย์ บิ๊กดาต้าชี้ชัดว่า การเมืองทั้งในสภาและทำเนียบรัฐบาล จะกลับไปย่ำ-ย้อนแบบโบราณ คือฐานใหญ่หัวใจสำคัญของจำนวน ส.ส. ต้องมี “ถุงเงิน” เท่านั้น